การเลือกแผ่นคูลลิ่งแพดให้ตรงต่อการใช้งาน
การเลือก CeLPad ให้ตรงต่อการใช้งาน |
ฝ่ายวิชาการ บริษัท ฮิวเทค (เซีย) จำกัด HTSP-110220 |
CeLPadâ คือ แผ่นทำความเย็น (Cooling pad หรือ Pad) ทำจากกระดาษ Kraft ซึ่งเยื้อกระดาษมีคุณสมบัติดี ทนทานต่อการฉีกขาดสูงที่สุดเมื่อเทียบกับกระดาษที่ผลิตด้วยวิธีอื่น นำเข้าจากประเทศฟินแลนด์ เมื่อนำมาผลิตเป็น แผ่นทำความเย็น (Cooling pad) จึงมีความแข็งแรงทนทาน สามารถรับแรงกดได้ดีเมื่อกระดาษดูดซับน้ำเต็มที่ ทนต่อแรงกดดันอากาศซึ่งเกิดขึ้นจากการใช้งานในระบบอีแว๊ป ไม่เปื่อยยุ่ยผุพังง่ายเมื่ออยู่ในสภาพที่เปียกน้ำและแห้งสลับกันอยู่เป็นประจำ ลอนกระดาษเป็นรูปโค้งสม่ำเสมอรวมถึงร่องอากาศ (Flute) ที่มีการออกแบบและผลิตอย่างพิถีพิถัน เหมาะกับการใช้งานแต่ละประเภท ใช้กาวชนิดพิเศษที่สามารถดูดซึมน้ำได้ดี ติดแน่น กระดาษไม่ปริหลุดหรือแยกออกจากกัน จึงทำให้ CeLPadâ มีความแข็งแรงทนทาน มีประสิทธิภาพการทำความเย็นสูง และมีค่าความกดดันลด (Pressure Drop) ต่ำ |
แผ่นทำความเย็น (Cooling pad) เป็นอุปกรณ์สำคัญของระบบทำความเย็นด้วยการระเหยน้ำ หรือนิยมเรียกสั้นๆว่า “ระบบอีแว๊ป” (Evaporative Cooling System) มีหน้าที่ดูดซับน้ำและระเหยน้ำเพื่อทำให้อากาศที่ไหลผ่านเย็นลง เมื่อประกอบกับการระบายอากาศที่ถูกต้องเหมาะสม จะทำให้ได้อากาศที่สดชื่นและเย็นสบาย ระบบอีแว๊ปสามารถนำไปดัดแปลงใช้งานในลักษณะต่างๆได้หลายรูปแบบ ทั้งแบบความกดดันเป็นลบ (Negative Pressure) เช่น โรงเรือนเลี้ยงสัตว์ โรงเพาะปลูกพืช (Greenhouse) โรงงานทอผ้า โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าหรือรองเท้า โรงงานผลิตอุปกรณ์หรือเครื่องจักร และโรงงานอุตสาหกรรมอื่นๆที่มีคนทำงานจำนวนมาก และแบบความกดดันเป็นบวก (Positive Pressure) โดยทำเป็นตู้อากาศ (Air Handling Unit - AHU) เพื่อการจ่ายลมเย็นเฉพาะบริเวณ (Spot cooling) หรือนิยมเรียกว่า “แอร์น้ำ” ซึ่งสามารถทำได้หลายขนาดตามความต้องการ ตั้งแต่ขนาดใหญ่ที่ใช้ในงานอุตสาหกรรม ร้านอาหาร ร้านค้า ตลาดนัด สนามกีฬา ลานเอนกประสงค์ จนถึงขนาดเล็กที่ใช้ในบ้านพักอาศัย นับวันระบบอีแว๊ปจะมีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น เนื่องจากสามารถใช้งานได้ดีในสภาวะอากาศร้อน และมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าเครื่องปรับอากาศแบบใช้น้ำยา (Refrigerant Air Conditioner) ถึง 10 เท่า |
CeLPadâ มีหลายรุ่นให้เลือกใช้ตามความต้องการ ทั้งนี้ เพื่อความเหมาะสมตามวัตถุประสงค์ในการใช้งานและเพื่อความคุ้มค่า ดังนั้น จึงขอแนะนำคุณสมบัติของ CeLPadâ รุ่นต่างๆที่มีจำหน่ายทั่วไป ดังนี้ |
CeLPad0790 เป็น Cooling pad ที่มีลอนกระดาษสูง 7 mm ร่องอากาศ (Flute) ทำมุมตัดกัน 90° หรือทำมุมกับแนวระนาบ 45°/45° มีพื้นที่ผิวสัมผัสเพื่อการระเหยน้ำ 460 m2/m3 มีประสิทธิภาพการทำความเย็น 88% ที่ความกดดันลด (Pressure Drop)25 Pa เมื่ออากาศไหลผ่าน CeLPad0790 หนา 150 mm ที่ความเร็วลม 1.5 m/s นิยมใช้กับระบบอีแว๊ปแบบ Negative Pressure ทั่วไป ซึ่งจะทำให้ระบบอีแว๊ปมีประสิทธิภาพการทำความเย็นสูงในขณะที่ความกดดันลด (Pressure Drop) ไม่สูงเกินความสามารถของพัดลม (พัดลมแบบ Axial Fan จะมีประสิทธิภาพดีที่ Static Pressure ไม่เกิน 40 Pa) สำหรับการเลี้ยงสัตว์ในภูมิอากาศแบบร้อนชื้นเช่นประเทศไทย แนะนำให้ใช้ CeLPad0790 หนา 150 mm โดยใช้ความเร็วลมผ่าน Pad1.5 m/s |
CeLPad0760 เป็น Cooling pad ที่มีลอนกระดาษสูง 7 mm ร่องอากาศ (Flute) ทำมุมตัดกัน 60° หรือทำมุมกับแนวระนาบ 45°/15° มีพื้นที่ผิวสัมผัสเพื่อการระเหยน้ำ 460 m2/m3 มีประสิทธิภาพการทำความเย็น 76% ที่ความกดดันลด (Pressure Drop)11 Pa เมื่ออากาศไหลผ่าน CeLPad0760 หนา 150 mm ที่ความเร็วลม 1.5 m/s นิยมใช้กับระบบอีแว๊ปแบบ Negative Pressure สำหรับโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ที่ต้องการระบายอากาศและความเร็วลมในอัตราสูงโดยเฉพาะความเร็วลมหลัง Pad หรือนำไปใช้เพื่อแก้ปัญหาโรงเรือนที่มีความกดดันต่าง (Different Pressure) สูง ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพของพัดลม การระบายอากาศ และความเร็วลมในโรงเรือนต่ำลง อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาเรื่องความกดดันต่าง (Different Pressure) ของโรงเรือน ควรใช้วิธีเพิ่มจำนวน Cooling pad ให้เหมาะสมกับจำนวนพัดลมจะดีที่สุด เว้นแต่ไม่สามารถแก้ไขดัดแปลงเพื่อติดตั้ง Cooling pad เพิ่มเติมได้ จึงจะใช้วิธีเปลี่ยนแบบของ Pad จาก CeLPad0790 เป็น CeLPad0760 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายอากาศให้ดีขึ้นแต่จะทำให้ประสิทธิภาพการทำความเย็นลดลง จึงเหมาะกับการใช้งานในท้องถิ่นที่มีความชื้นไม่สูงมากนัก ส่วนกรณีที่ต้องการความเร็วลมหลัง Pad สูง แนะนำให้ใช้ CeLPad0760 หนา 150 mm โดยใช้ความเร็วลมผ่าน Pad2.0 m/s หรือมีค่าความกดดันลด (Pressure Drop) ไม่เกิน 37.5 Pa หรือ 0.15 inH2O แต่ต้องไม่ลืมว่าประสิทธิภาพการทำความเย็นจะลดลงเหลือประมาณ 74% |
CeLPad0590 เป็น Cooling pad ที่มีลอนกระดาษสูง 5 mm ร่องอากาศ (Flute) ทำมุมตัดกัน 90° หรือการทำมุมกับแนวระนาบมี 2 แบบคือมุม 45°/45° และ 60°/30° มีพื้นที่ผิวสัมผัสเพื่อการระเหยน้ำ 690 m2/m3 มีประสิทธิภาพการทำความเย็น 97% ที่ความกดดันลด (Pressure Drop)44 Pa เมื่ออากาศไหลผ่าน CeLPad0590 หนา 150 mm ที่ความเร็วลม 1.5 m/s นิยมใช้กับระบบอีแว๊ปแบบ Positive Pressure เช่น ตู้อากาศ (Air Handling Unit - AHU) หรือ “แอร์น้ำ” เป็นการทำความเย็นเฉพาะบริเวณ (Spot cooling) เนื่องจาก CeLPad0590 มีประสิทธิภาพการทำความเย็นสูง และมีค่าความกดดันลด (Pressure Drop) ค่อนข้างสูง จึงนิยมใช้ร่วมกับพัดลมแบบกรงกระรอก (Centrifugal Fan) ซึ่งสามารถทำงานได้ดีที่ค่า Static Pressure สูงกว่า 40 Pa ในปัจจุบัน ระบบอีแว๊ปแบบใช้งานเฉพาะบริเวณ (Spot cooling) ถูกนำมาใช้มากขึ้น เพราะสามารถทำความเย็นได้ดี มีค่าใช้จ่ายในการใช้งานต่ำ และคุ้มค่าในการลงทุน |
อนึ่ง ในท้องถิ่นภูมิอากาศแบบร้อนชื้นเช่นประเทศไทย โรงเรือนอีแว๊ปโดยทั่วไปจะมีประสิทธิภาพที่ทำเกิดค่า Heat Stress Index(HSI) ประมาณ 165 - 167 ซึ่งถือว่าไม่ค่อยดีอยู่แล้ว การใช้ Pad ที่มีคุณภาพไม่ดีหรือมีการออกแบบไม่ถูกต้อง จะยิ่งทำให้ประสิทธิภาพระบบอีแว๊ปต่ำลงไปอีก เช่น โรงเรือนอีแว๊ปที่ใช้เลี้ยงสัตว์ ถ้าใช้ Pad คุณภาพต่ำจะทำให้อุณหภูมิในโรงเรือนสูงกว่าโรงเรือนที่ใช้ Pad คุณภาพสูง ไม่น้อยกว่า 1°C หรือทำให้ค่า HSI สูงขึ้นประมาณ 2 หน่วย การเพิ่มขึ้นของค่า HSI จะทำให้สัตว์เกิดความเครียดจากความร้อน (Heat Stress) มากขึ้น ซึ่งย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพการผลิตสัตว์จนอาจเกิดความเสียหายขึ้นได้ เช่น ถ้าค่า HSI สูงถึง 170 ไก่เนื้อน้ำหนัก 2.00 - 2.20 กก. หรือสุกรพ่อแม่พันธุ์น้ำหนัก 200 - 250 กก. หรือสูงกว่านั้น จะแสดงอาการ หอบหายใจ กินอาหารลดลง กินน้ำมากขึ้น มีอาการหมอบ ซึม อย่างเห็นได้ชัด และถ้าค่า HSI สูงถึง 172 - 175 อาจทำให้ไก่เนื้อหรือสุกรพันธุ์ขนาดดังกล่าว โดยเฉพาะแม่สุกรอุ้มท้อง อาจถึงตายได้ หรือการเลี้ยงไก่เนื้อในโรงเรือนอีแว๊ปที่มีอุณหภูมิสูงถึง 32°C หรือสูงกว่าอยู่เป็นประจำ จะทำให้ไก่เนื้อมีอัตราการเจริญเติบโตลดลง ค่า FCR สูงขึ้น โดยเฉพาะไก่เนื้อที่มีอายุตั้งแต่ 30 วัน ขึ้นไป หรือไก่เนื้อที่มีขนาดตั้งแต่ 2.00 กก. ขึ้นไป อาจเกิดความเสียหาย หรืออาจพบว่ามีไก่ตายมากว่าปกติก็ได้ |
|
|