การผลิตไก่เนื้อเชิงอุตสาหกรรม ตอนที่ 7

ไก่เนื้อ

การผลิตไก่เนื้อเชิงอุตสาหกรรม (ตอนที่ 7)

 

4.   ระบบความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) คือ ระบบการจัดการเพื่อการป้องกันและควบคุมโรคสัตว์ ด้วยวิธีการลดความเสี่ยงการนำเชื้อโรคเข้าสู่ฟาร์ม การแพร่ระบาดของเชื้อโรคภายในฟาร์ม และการแพร่กระจายของเชื้อโรคออกไปจากฟาร์ม มีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

 

4.1  การดูแลจัดการระบบฟาร์ม (Farm Carefulness) ควรก่อสร้างฟาร์มบนที่ดินที่มีขนาดเหมาะสม น้ำท่วมไม่ถึง มีทางคมนาคมสะดวกสามารถใช้ได้ทุกฤดูกาล มีระบบไฟฟ้า มีแหล่งน้ำคุณภาพดีและเหมาะสมกับการเลี้ยงไก่ อยู่ห่างจากชุมชน วัด โรงเรียน ตลาดค้าสัตว์มีชีวิต และโรงฆ่าสัตว์ ตามมาตรฐานฟาร์มของกรมปศุสัตว์ การวางผังฟาร์ม ควรแบ่งพื้นที่ฟาร์มออกเป็นเขตเลี้ยงไก่และเขตที่พักอาศัย แยกออกจากกันอย่างชัดเจน ตำแหน่งโรงเรือนควรจัดวางตามแนวตะวัน (ทิศตะวันออก-ตะวันตก) เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้แสงแดดส่องด้านข้างโรงเรือนมากเกินไป ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิในโรงเรือนสูงกว่าปกติโดยใช่เหตุ มีระยะต่อระยะเคียงตามมาตรฐานฟาร์มของกรมปศุสัตว์ มีรั้วและประตูฟาร์มที่สามารถป้องกันสัตว์อื่นได้ มีห้องอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าสำหรับผู้ที่จะเข้าไปทำงานในโรงเรือนเลี้ยงไก่ มีระบบฆ่าเชื้อโรคสำหรับยานยนต์ อุปกรณ์ และเครื่องมือทุกชนิด ที่นำเข้ามาในฟาร์มและในเขตเลี้ยงไก่ เป็นต้น

 

4.2  การสุขาภิบาล (Sanitation) คือ การจัดการที่เกี่ยวกับการป้องกันโรคทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อให้ไก่ มีสุขภาพดี มีความสมบูรณ์แข็งแรง และมีสถานะปลอดโรคอยู่เสมอ ซึ่งจะส่งผลให้ไก่มีการเจริญเติบโตตามธรรมชาติ มีประสิทธิภาพในการผลิตสูง และให้ผลิตผลที่ดีมีคุณภาพเหมาะแก่การบริโภค การจัดการดูแลสถานที่เลี้ยงไก่ ถือเป็นปัจจัยสำคัญด้านการสุขาภิบาล เช่น การจัดเตรียมโรงเรือนอย่างถูกต้องเหมาะสม ด้วยการทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรงเรือน อุปกรณ์ และเครื่องมือ ที่นำมาใช้ในการเลี้ยงไก่ การขนย้ายวัสดุรองพื้นหลังจากการจับไก่หมดแล้ว ควรฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อบนวัสดุรองพื้นให้ทั่วและมีความชื้นพอสมควรก่อนเก็บกวาดออกจากโรงเรือน เพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นละอองฟุ้งกระจายและเกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรค การจัดการวัสดุรองพื้นใหม่ที่จะนำมาใช้สำหรับการเลี้ยงไก่รุ่นต่อไป ควรผ่านการฆ่าเชื้อโรคก่อนทุกครั้ง เช่น การตากแดดและฉีดพ่นด้วยยาฆ่าเชื้อ นอกจากนั้น ควรพักโรงเรือนตามข้อกำหนดก่อนนำลูกไก่เข้าเลี้ยง การจัดการดูแลพื้นที่ในฟาร์ม ถ้ามีที่ลุ่มน้ำขังเป็นครั้งคราว ควรทำร่องระบายน้ำออกไปเพื่อให้ดินแห้งอยู่เสมอ หรือทำการปรับระดับดินเพื่อไม่ให้น้ำขังอีกต่อไป การป้องกันกำจัดสัตว์พาหะนำโรค เช่น นก หนู และแมลงวัน ควรใช้วิธีดูแลรักษาความสะอาดภายในฟาร์มอย่างเคร่งครัด กล่าวคือ ต้องไม่มีสิ่งปฏิกูล เศษอาหารสัตว์ หรือสิ่งอื่นใด ที่นก หนู หรือแมลงวัน สามารถใช้เป็นอาหารหรือเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ได้ ถ้าพบเห็น ให้รีบเก็บกวาดออกให้หมดแล้วใช้ปูนขาวโรยทับเอาไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้แมลงวันมาวางไข่ ให้ป้องกันกำจัดแหล่งที่อยู่อาศัยของ นก และหนู เช่น ไม่ควรปลูกต้นไม้ยืนต้นที่นกสามารถเกาะอาศัยได้ ควรตัดหญ้าในฟาร์มให้สั้นอยู่เสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้หนูมาขุดรูทำรัง การดูแลจัดการด้านอาหารสัตว์ควรควบคุมป้องกันถุงอาหารสัตว์ไม่ให้ถูกทำลายหรือเกิดการปนเปื้อนจากสภาพแวดล้อม มีการป้องกันแหล่งน้ำที่จะนำไปใช้ทำน้ำประปาให้ปราศจากการปนเปื้อนทั้งทางตรงและทางอ้อม และมีอุปกรณ์ทำน้ำประปาที่เหมาะสมกับการเลี้ยงไก่ มีการกำจัดของเสียอย่างถูกต้อง และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ใช้ถังคอนกรีตที่มีฝาปิดมิดชิดฝังดินไว้เพื่อใช้สำหรับการฝังกลบ หรือใช้เตาเผาที่ถูกต้องในการเผาทำลายซากไก่ ทั้งนี้ ไม่ควรทิ้งของเสียโดยไม่มีสิ่งปกปิดหรือการเผาซากไก่ในที่เปิดโล่ง เพราะกลิ่นจากของเสียหรือการเผาซากไก่ อาจส่งผลให้สุนัขมาชุมนุมกันเป็นจำนวนมากและก่อให้เกิดปัญหาด้านการสุขาภิบาลได้ ควรจัดการน้ำที่ใช้ล้างโรงเรือนและอุปกรณ์ ให้ไหลไปรวมกันในที่เก็บและมีการบำบัดน้ำเสียอย่างถูกต้อง นอกจากนั้น การกำจัดไก่ป่วยออกจากฝูง ต้องเป็นไปอย่างถูกต้องตามหลักสวัสดิภาพสัตว์

 

4.3  การทำวัคซีน (Vaccination) ต้องเป็นไปตามโปรแกรมที่เหมาะสมกับท้องถิ่นที่เลี้ยงไก่และทำเท่าที่จำเป็น ทั้งนี้ โดยคำแนะนำของสัตวแพทย์ ไม่ควรทำวัคซีนตามอย่างฟาร์มอื่น เพราะนอกจากจะไม่เกิดผลดีแล้วยังอาจเกิดผลเสียตามมาได้ การทำวัคซีนอาจทำให้ไก่เกิดความเครียดได้ ดังนั้น จึงควรจัดการดูแลฝูงไก่อย่างดีทั้งก่อนและหลังการทำวัคซีน เช่น การให้วิตามินและเกลือแร่ที่ช่วยลดความเครียดของไก่ ควรทำวัคซีนเมื่อไก่มีความพร้อมเท่านั้น กรณีไก่แพ้วัคซีนหรือไก่ป่วยหลังจากการทำวัคซีน ให้รีบปรึกษาสัตวแพทย์ เพื่อการใช้ยาอย่างถูกต้องเหมาะสม สิ่งที่ต้องระวังคือ ไม่ควรทำวัคซีนในขณะที่ไก่มีความเครียดสูง เช่น สภาพแวดล้อมไม่ดี หรือสภาวะอากาศไม่เหมาะสม การจับไก่ทำวัคซีนต้องเป็นไปอย่างนุ่มนวลและไม่ทำให้ไก่ตื่นตกใจ เพราะไก่ที่มีความเครียดสูง จะทำให้ไก่ไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มโรคที่ดีได้และอาจทำให้ไก่แพ้วัคซีนรุนแรงกว่าปกติก็ได้ หลังจากการทำวัคซีนทุกครั้ง ควรทำลายขวดบรรจุวัคซีนด้วยวิธีที่ถูกต้องทันที เช่น การต้มในน้ำเดือด การเผาในเตาเผา หรือทำตามคำแนะนำของผู้ผลิตวัคซีน                        

                                             

4.4  การดูแลจัดการด้านสุขภาพ (Health Carefulness) การเลี้ยงไก่ก็เหมือนการเลี้ยงเด็กอ่อน ผู้ดูแลเลี้ยงไก่ต้องมีประสบการณ์พอสมควรในการแยกแยะและวิเคราะห์ลักษณะอาการและพฤติกรรมของไก่ และควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมหรืออาการของไก่อยู่เสมอ เพื่อจะได้แก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที สิ่งที่ผู้ดูแลเลี้ยงไก่ควรให้ความสนใจ มีดังนี้

 

1) อัตราส่วนการดื่มน้ำและอาหาร ปกติการเลี้ยงไก่ในโรงเรือนอีแว๊ป ควรมีอัตราการดื่มน้ำ ประมาณ 2.5-3 เท่าของปริมาณอาหารที่บริโภค ดังนั้น ถ้าอัตราการดื่มน้ำของไก่สูงมากเกินไป แสดงว่าเกิดความผิดปกติขึ้นในฝูงไก่แล้ว ให้ตรวจสอบว่า อัตราการกินอาหารของไก่ลดลงด้วยหรือไม่ ถ้าอัตราการกินอาหารลดลงอย่างมีนัยสำคัญ สามารถวิเคราะห์ปัญหาเป็นไปได้ 2 ทางคือ เกิดจากอุณหภูมิในโรงเรือนสูงเกินไปหรือไก่ป่วย กรณีอุณหภูมิในโรงเรือนสูงเกินไปหรือสูงเกินกว่า 30oC ไก่จะแสดงอาการอ้าปากหายใจหรือการหอบหายใจ นอนคลุกวัสดุรองพื้น หรือนอนหมอบและอาจมีอาการซึมร่วมด้วย จากประสบการณ์ของผู้เขียนพบว่า ถ้าอุณหภูมิเฉลี่ยในโรงเรือนสูงถึง 32 oC อาจทำให้ไก่เนื้อขนาด 2.00 - 2.20 ก.ก. ถึงตายได้ ในกรณีนี้ ควรปรึกษาสัตวบาลผู้เชี่ยวชาญด้านโรงเรือนอีแว๊ป เพื่อการแก้ปัญหาอย่างถูกต้อง ส่วนกรณีที่สงสัยว่าไก่ป่วย ควรรีบปรึกษาสัตวแพทย์

 

2) อัตราการเจริญเติบโต ไก่เนื้อในปัจจุบัน มักมีอัตราการเจริญเติบโตใกล้เคียงกับค่ามาตรฐานหรือตามคำแนะนำของผู้ผลิตพันธุ์ไก่เนื้อ ถ้าพบว่าอัตราการเจริญเติบโตของไก่ต่างจากค่ามาตรฐานหรือค่าที่แนะนำมาก แสดงว่าฝูงไก่อาจมีปัญหาซึ่งมีหลายสาเหตุ เช่น สภาวะอากาศในโรงเรือนไม่เหมาะสม โภชนะหรือคุณภาพอาหารไม่ถูกต้องหรือไม่เหมาะสม ไก่ป่วยหรือติดเชื้อโรคที่ส่งผลต่ออัตราการเจริญเติบโต เป็นต้น ให้รีบค้นหาสาเหตุ โดยปรึกษาสัตวบาลผู้เชี่ยวชาญหรือสัตวแพทย์ เพื่อการแก้ปัญหาอย่างถูกต้องต่อไป

 

3) สภาพความเป็นอยู่และพฤติกรรมของไก่ ผู้ดูแลเลี้ยงไก่ควรมีความรู้ความชำนาญอย่างเพียงพอ สามารถสังเกตเห็นความผิดปกติและแยกแยะเพื่อประเมินปัญหาหรือสาเหตุเบื้องต้นได้ ทั้งนี้ เพื่อความรวดเร็วในการป้องกันไม่ให้ปัญหารุนแรงมากขึ้น ต้องเข้าใจถึงพฤติกรรมหรืออาการของไก่ทั้งการ ยืน เดิน นั่ง นอน สามารถบ่งบอกได้หลายอย่าง เช่น อาการหงอย ซึม คอตก นอนหมอบ เสียงไอ จาม และลักษณะของมูลไก่ เป็นต้น ถ้าผู้ดูแลเลี้ยงไก่สามารถบอกเล่าข้อเท็จจริงให้สัตวบาลหรือสัตวแพทย์ ได้อย่างชัดเจน จะช่วยให้การค้นหาหรือวิเคราะห์สาเหตุที่เกิดขึ้นในฝูงไก่ได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม อาการผิดปกติในฝูงไก่ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของไก่ป่วยเสมอไป ดังนั้น จึงไม่ควรรีบให้ยาก่อนที่จะมีข้อบ่งชี้ว่าไก่ป่วยจริง กรณีผู้เลี้ยงไก่เนื้อในระบบพันธสัญญา คู่สัญญาของท่านจะต้องมีสัตวบาลและสัตวแพทย์พร้อมที่จะให้คำปรึกษาหรือบริการอยู่แล้ว ส่วนกรณีผู้เลี้ยงไก่เนื้อแบบอิสระ ก็ควรมีบุคคลที่ท่านให้ความเชื่อถือเป็นที่ปรึกษา ทั้งนี้ เพื่อความมั่นใจในการดำเนินกิจการของท่าน

 

ไก่เนื้อ
 
Visitors: 151,217