การผลิตไก่เนื้อเชิงอุตสาหกรรม ตอนที่ 6

 
ไก่เนื้อ

การผลิตไก่เนื้อเชิงอุตสาหกรรม (ตอนที่ 6)

 

3.6 การให้น้ำ (Drinking Water Management)

น้ำสะอาดเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก การเลี้ยงไก่เนื้อในโรงเรือนอีแว๊ปในท้องถิ่นที่มีภูมิอากาศแบบร้อนชื้น ต้องการน้ำดื่มประมาณ 3 เท่าของอาหารที่บริโภค แหล่งน้ำและการผลิตน้ำประปาของฟาร์ม จึงมีความสำคัญและควรให้ความสนใจไม่ยิ่งหย่อนกว่าปัจจัยอื่น ถ้าเป็นไปได้ควรมีถังพักน้ำในโรงเรือน ซึ่งจะช่วยทำให้น้ำดื่มสำหรับไก่มีอุณหภูมิต่ำกว่าน้ำที่ส่งมาจากนอกโรงเรือนโดยตรง และสามารถกำหนดแรงดันน้ำในโรงเรือนให้เหมาะสมกับการใช้งานได้ (ถังน้ำสูงจากพื้น 2.00 เมตร น้ำในท่อที่ระดับพื้นจะมีแรงดัน 0.2 bar) และการมีถังน้ำสำรองย่อมปลอดภัยกว่าโดยเฉพาะเมื่อระบบน้ำในฟาร์มมีปัญหาหรือชำรุด

 

อย่างไรก็ตาม ควรติดตั้งท่อน้ำพร้อมอุปกรณ์ที่สามารถจ่ายน้ำเข้าสู่โรงเรือนได้โดยตรง เพื่อให้สามารถล้างทำความสอาดถังพักน้ำได้ การเลี้ยงไก่เนื้อโดยทั่วไป นิยมใช้อุปกรณ์ให้แบบ “จุ๊บน้ำ” (Nipple) ซึ่งจะติดตั้งเป็นแถวเดี่ยวสลับกับแถวของรางอาหารและควรมีจำนวนมากกว่าแถวอาหาร 1 แถวเสมอ ตำแหน่งจุ๊บน้ำควรกระจายอยู่ทั่วพื้นที่เลี้ยงไก่อย่างสม่ำเสมอ และมีจำนวนเหมาะสมกับจำนวนไก่หรือประมาณ 10 ตัว/จุ๊บน้ำ การติดตั้งท่อจ่ายน้ำสำหรับจุ๊บน้ำ ต้องให้ได้ระดับที่สม่ำเสมอ ไม่ควรมีลักษณะเป็นคลื่นหรือตกท้องช้าง เพราะจะทำให้แรงดันน้ำในท่อผิดปกติและกระทบต่อการใช้จุ๊บน้ำได้ ควรปรับระดับความสูงของท่อจ่ายน้ำตามการเจริญเติบโตของไก่ โดยให้ไก่ยืนดื่มน้ำในลักษณะทำมุม 45o อย่างไรก็ตาม จุ๊บน้ำมีหลายรุ่นควรเลือกใช้ให้เหมาะสมกับประเภทของไก่ด้วย

 

“อุปกรณ์ปรับแรงดันน้ำ” (Pressure Regulator) เป็นอุปกรณ์สำคัญที่ช่วยปรับลดแรงดันน้ำที่มาจากนอกโรงเรือน เพื่อให้แรงดันน้ำในท่อจ่ายน้ำสำหรับจุ๊บน้ำไม่สูงเกินไป โดยทั่วไป ควรมีแรงดันน้ำประมาณ 0.02 - 0.05 bar เท่านั้น ถ้าน้ำในท่อจ่ายน้ำมีแรงดันสูงเกินไป กระเดื่องของจุ๊บน้ำจะขยับได้ยากทำให้ไก่ต้องใช้แรงจิกมาก เมื่อกระเดื่องขยับน้ำซึ่งมีแรงดันสูงจะกระเซ็นออกมาทันที ไก่อาจดื่มน้ำไม่ทันทำให้น้ำหยดลงพื้นเกิดปัญหาพื้นเปียกแฉะ และน้ำที่กระเซ็นออกมาถูกหน้าไก่จะทำให้ไก่รู้สึกสดชื่น ซึ่งจะเป็นการเพาะนิสัยให้ไก่ชอบเล่นน้ำและกลายเป็นปัญหาด้านการจัดการมากขึ้น

 

“ท่อระบายอากาศ” (Snorkel Tube) มีหน้าที่ช่วยระบายอากาศที่ค้างอยู่ในท่อจ่ายน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดฟองอากาศภายในท่อซึ่งอาจไปขัดขวางการทำงานของจุ๊บน้ำได้ โดยจะทำงานร่วมกับอุปกรณ์ปรับแรงดันน้ำ เมื่อแรงดันน้ำในท่อจ่ายน้ำต่ำเกินไป ให้ปรับประตูน้ำที่อุปกรณ์ปรับแรงดันน้ำ เพื่อให้น้ำไหลผ่านท่อจ่ายน้ำมากขึ้น ซึ่งจะทำให้แรงดันน้ำในท่อจ่ายน้ำสูงขึ้น ทั้งนี้ ให้ดูที่ความสูงของระดับน้ำในท่อระบายอากาศ โดยทั่วไป ระดับน้ำในท่อระบายอากาศควรสูงประมาณ 20 - 50 เซ็นติเมตร ซึ่งจะทำให้น้ำในท่อจ่ายน้ำมีแรงดัน 0.02 - 0.05 bar ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับอายุไก่และชนิดของจุ๊บน้ำ (Nipple) ที่ใช้ด้วย หรือให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ผลิต (ถ้ามี) กรณีน้ำในท่อจ่ายน้ำมีแรงดันต่ำเกินไป กระเดื่องของจุ๊บน้ำจะขยับได้ง่าย ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้น้ำรั่วซึมจากจุ๊บน้ำ  นอกจากนั้น ยังมีอุปกรณ์ที่ควรมีไว้ใช้งานตามความจำเป็น ดังนี้

 

“อุปกรณ์กรองน้ำ” (Filter) สำหรับการกรองตะกอนขนาดเล็กในน้ำดื่ม มีความสำคัญต่อการใช้จุ๊บน้ำมาก เพราะตะกอนเหล่านี้อาจทำให้จุ๊บน้ำเกิดการอุดตัน หรือจุ๊บน้ำปิดไม่สนิททำให้น้ำรั่วซึมที่จุ๊บน้ำได้ ใส้กรองที่ใช้ ควรมีขนาดไม่น้อยกว่า 200 mesh หรือไม่เกิน 80 micron และควรทำความสอาดใส้กรองบ่อยๆหรือเปลี่ยนใส้กรองน้ำตามความจำเป็น เพื่อรักษาประสิทธิภาพการกรองน้ำให้ดีอยู่เสมอ

 

“อุปกรณ์เติมยาในน้ำดื่ม” (Medicator) ใช้ให้ยาและวิตามินในน้ำดื่ม เป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานสะดวก ดูแลบำรุงรักษาง่าย ทำงานต่อเนื่องโดยไม่ใช้พลังงานไฟฟ้า และมีราคาไม่สูงนัก แต่ถ้ามีถังพักน้ำในโรงเรือนอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ก็ได้

 

“มาตรวัดน้ำ” (Water Meter) ใช้สำหรับตรวจวัดปริมาณและอัตราการไหลของน้ำ ซึ่งมีความสำคัญต่อการประเมินสุขภาพและประสิทธิภาพการผลิตไก่เนื้อ มีทั้งแบบกลไก (Mechanical Device) สำหรับการใช้งานทั่วไป และแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Device) ที่ใช้ต่อเชื่อมกับคอมพิวเตอร์เพื่อการตรวจสอบและการควบคุมทางไกลด้วยระบบ Internet of Thing (IoT)

 

 

ไก่เนื้อ

 

 

 

3.7 การให้แสงสว่าง (Light Management)

 

แสงสว่าง เป็นพลังงานรูปหนึ่งแพร่กระจายออกไปด้วยการแผ่รังสีในรูปของ คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Wave) แสงสว่างที่คนสามารถมองเห็น (Visible Light) หรือแสงแดด เป็นส่วนหนึ่งของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า มีความยาวคลื่นประมาณ 400 - 700 นาโนเมตร การผลิตสัตว์ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีการนำความรู้และเทคนิคเกี่ยวกับแสงสว่างมาใช้กันอย่างจริงจังและแพร่หลาย ทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและสัตว์ปีก เพราะแสงสว่างมีอิทธิพลต่อการมองเห็น พฤติกรรม การหลั่งฮอร์โมน และจังหวะวงจรชีวิต (Circadian Rhythm) ของสัตว์ แสงสว่างสามารถเข้าสู่การรับรู้หรือเป็นสิ่งเร้าต่อสัตว์ได้ 2 ทางคือ แสงสว่างผ่านเข้าทางตาไปกระตุ้นประสาทสัมผัสที่จอภาพ (Retinal Receptors) และแสงสว่างสามารถทะลุผ่านกระโหลกศีรษะเข้าไปกระตุ้นที่ Pineal Gland และ Hypothalamus ได้โดยตรง การผลิตไก่เชิงอุตสาหกรรมในปัจจุบัน มีการนำประโยชน์จากแสงสว่างมาใช้กันอย่างแพร่หลาย 3 ด้าน ดังนี้


1) สีของแสงสว่าง (Electromagnetic Spectrum หรือ Light Colors) ไก่ เป็นสัตว์ที่สามารถมองเห็นสีของแสงสว่าง (Spectrum) ได้กว้างกว่าคน เช่น สามารถมองเห็นแสง Ultraviolet ได้โดยที่คนมองไม่เห็น และสีของแสงสว่างจะมีผลต่อพฤติกรรมของไก่อย่างมาก เช่น แสงสีน้ำเงิน (Blue Light) ช่วยลดอาการตื่นเต้นหรือทำให้ไก่มีอาการสงบลง แสงสีน้ำเงิน-เขียว (Blue-Green Light) ช่วยกระตุ้นการกินอาหารและการเจริญเติบโต แสงสีแดง (Red Light) ช่วยลดการจิกขน (Cannibalism) และแสงสีส้ม-แดง (Orange-Red Light) ช่วยกระตุ้นระบบสืบพันธุ์ (Reproduction System) เป็นต้น


2) ความเข้มแสงสว่าง (Light Intensities หรือ Brightness) ระดับความเข้มแสงหรือความสว่าง มีผลโดยตรงต่อการมองเห็นหรือการรับรู้แสงสว่างของไก่ ซึ่งเป็นสิ่งเร้าที่จะมีผลต่อกระบวนการต่างๆในร่างกายของไก่ (Physiological Activity) ไก่เป็นสัตว์ที่มองเห็นในที่มืดได้ดีกว่าคน เช่น แสงสว่างเพียง 1 ลักซ์ ก็ทำให้ไก่สามารถมองเห็นหรือรับรู้ถึงแสงสว่างนั้นได้ แม้ว่าอาจส่งผลต่อการทำกิจกรรมและการกระตุ้นระบบต่างๆในร่างกายได้ไม่เต็มที่ก็ตาม


3) ช่วงเวลาแสงสว่าง (Light Duration หรือ Dawn and Dark) เป็นช่วงเวลาของการมีแสงสว่างและความมืดใน 1 รอบวัน มีความสำคัญต่อจังหวะวงจรชีวิต (Circadian Rhythm) หรือกิจวัตรการดำเนินชีวิตของไก่อย่างมาก เช่น การกิน การนอน และการหลั่งฮอร์โมนเพื่อควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกาย ซึ่งมีความสำคัญต่อกระบวนการดำรงชีวิต การเจริญเติบโต ภูมิคุ้มโรค อารมณ์ และความสมบูรณ์เพศ เป็นต้น


การผลิตไก่เนื้อเชิงอุตสาหกรรม ใช้ระยะเวลาการเลี้ยงไม่นาน ประมาณ 35 - 49 วัน โดยเน้นประสิทธิภาพการผลิตขั้นพื้นฐานคือ อัตราการเจริญเติบโตที่ดี (High Growth Rate) อัตราการบริโภคอาหารสูง (High Feed Consumption Rate) และอัตราการเลี้ยงรอดสูง (High Livability) การใช้โรงเรือนอีแว๊ป ซึ่งเป็นโรงเรือนแบบปิดภายในโรงเรือนจึงมืดมาก โดยทั่วไปนิยมทำช่องแสงยาวตลอดด้านข้างโรงเรือนเพื่อช่วยเพิ่มแสงสว่างและลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับไฟฟ้าในตอนกลางวัน อย่างไรก็ตาม โรงเรือนที่มีความกว้างมาก ความเข้มแสงในแนวตรงกลางโรงเรือนอาจไม่เพียงพอ จึงต้องให้แสงสว่างช่วย (Artificial Light) เช่นกัน

 

ในทางปฏิบัติ ควรใช้เครื่องวัดความเข้มแสง (Light Meter หรือ Lux Meter) ช่วยในการกำหนดหรือออกแบบระบบไฟฟ้าแสงสว่าง เพื่อให้ความเข้มแสงในโรงเรือนมีความสม่ำเสมอและมีค่าไม่น้อยกว่าที่กำหนด จากเอกสารการทดลองเกี่ยวกับการใช้แสงสว่างเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไก่เนื้อหลายฉบับ พอสรุปได้ว่า

(1) การใช้สีของแสงสว่าง (Light Colors) สามารถกระตุ้นการกินอาหารและการเจริญเติบโตของไก่เนื้อได้แต่มักมีข้อจำกัดในด้านการลงทุนและเทคนิคการใช้งาน ในขณะที่การใช้แสงสีขาว (Daylight) ซึ่งเป็นส่วนผสมของแสงทุกสีที่คนมองเห็น (Visible Light) สามารถใช้ได้และให้ผลที่คุ้มค่าโดยไม่จำเป็นต้องใช้แสงสีเดียว (Monochromatic Light) แบบเฉพาะเจอะจง

 

(2) ความเข้มแสงสว่าง (Light Intensity) มีผลต่อการเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตและอัตราการบริโภคอาหารของไก่เนื้อน้อยมาก แต่การให้แสงสว่างที่มีความเข้มน้อยเกินไป จะส่งผลต่อพฤติกรรมและสุขภาพของไก่มากกว่าและอาจขัดต่อหลักสวัสดิภาพสัตว์ก็ได้ แต่ถ้าให้แสงสว่างที่มีความเข้มมากเกินไป จะทำให้ไก่ตื่นตัวอยู่เสมอและมีความก้าวร้าวมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ไก่เกิดการบาดเจ็บและเสียหายได้ ดังนั้น การให้แสงสว่างที่มีความเข้มในระดับที่เหมาะสมย่อมให้ผลดีต่อการผลิตไก่เนื้อมากกว่า และ

 

(3) ช่วงเวลาแสงสว่าง (Light Duration) จะส่งผลต่ออัตราการเจริญเติบโตและอัตราการบริโภคอาหารของไก่มาก อย่างไรก็ตาม การให้แสงสว่างเพื่อการผลิตไก่เนื้อไม่มีสูตรที่ตายตัว ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นและเป้าหมายหรือแผนการผลิตไก่เนื้อแต่ละฟาร์ม ซึ่งต้องค้นหาสูตรสำเร็จของตัวเอง สำหรับผู้ที่ยังหาสูตรสำเร็จของตนเองไม่ได้ อาจใช้คำแนะนำโดยทั่วไป ดังต่อไปนี้ ในช่วงเวลาการกกลูกไก่ 7 วันแรก ควรให้แสงสว่าง 23 ชั่วโมง/วัน ที่ความเข้มแสง 20 - 40 ลักซ์

 

หลังจากนั้น ให้ลดความเข้มแสงลงเหลือไม่น้อยกว่า 8 - 10 ลักซ์ และให้แสงสว่างแบบต่อเนื่อง 17 - 20 ชั่วโมง/วัน (กรณีที่มีช่องแสง ให้รวมแสงสว่างตามธรรมชาติด้วย) ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับอายุไก่ที่จับส่งตลาดด้วย เช่น ถ้าจับไก่ส่งตลาดที่อายุน้อย (32 - 35 วัน) อาจต้องให้แสงสว่าง 20 ชั่วโมง/วัน หลังจากอายุ 7 วัน ถึงปลดไก่ แต่ถ้าจับไก่ส่งตลาดที่อายุมากขึ้น (40 - 49 วัน) อาจให้แสงสว่างแบบคงที่ไม่น้อยกว่า 17 ชั่วโมง/วัน หรือให้แสงสว่างแบบอัตราลดคือให้แสงสว่าง 17 - 20 ชั่วโมง/วัน ตั้งแต่ไก่อายุ 8 - 32 วัน จากนั้นให้ลดเวลาให้แสงสว่างลง 1 ชั่วโมง ทุก 4 - 5 วัน โดยช่วงสุดท้ายก่อนปลดไก่ ควรให้แสงสว่างไม่น้อยกว่า 17 ชั่วโมง/วัน จะช่วยลดอัตราความเสียหายในฝูงไก่และประหยัดค่ากระแสไฟฟ้ามากกว่าการให้แสงสว่างแบบต่อเนื่อง 20 ชั่วโมง/วัน อย่างไรก็ตาม การให้แสงสว่างน้อยกว่า 14 ชั่วโมง/วัน จะไม่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไก่เนื้อหรือไม่ช่วยเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตและอัตราการกินอาหารของไก่ แต่อย่างใด

 

 
Visitors: 151,369