การผลิตไก่เนื้อเชิงอุตสาหกรรม ตอนที่ 5

ไก่เนื้อ

การผลิตไก่เนื้อเชิงอุตสาหกรรม (ตอนที่ 5)

 

3.3  การจัดการโรงเรือน (Housing Management) ควรมีการจัดการอย่างถูกต้องเหมาะสม เช่น การระบายอากาศ อุณหภูมิและความชื้นในโรงเรือนซึ่งกล่าวมาแล้ว การใช้งานโรงเรือนอีแว๊ปทั้งก่อนและหลังการเลี้ยงไก่ รวมถึงอุปกรณ์ที่ใช้ในการเลี้ยงไก่ต่างๆ ควรล้างทำความสะอาดอย่างหมดจด ทิ้งไว้จนแห้งแล้วจึงฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อให้ทั่วทุกซอกทุกมุมทั้งภายในและภายนอกโรงเรือน ถ้าโรงเรือนส่วนไหนชำรุดบกพร่องควรรีบแก้ไขซ่อมแซมให้มีสถาพพร้อมใช้งานอยู่เสมอ โดยเฉพาะโรงเรือนที่ใช้เพดานและผ้าม่านที่เป็นพลาสติก ควรดูแลและหมั่นซ่อมแซมเป็นกรณีพิเศษ เพราะมักจะชำรุดเสียหายได้ง่าย ทั้งนี้ เนื่องจากโรงเรือนอีแว๊ปใช้วิธีดูดอากาศออกจากโรงเรือน ทำให้ความกดดันอากาศในโรงเรือนต่ำกว่าภายนอก ถ้าโรงเรือนรั่วจะทำให้อากาศร้อนจากภายนอกโรงเรือนไหลเข้ามาได้โดยตรง ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิในโรงเรือนสูงมากกว่าปกติและอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อฝูงไก่ได้ นอกจากนั้น ควรตรวจสอบและซ่อมแซมแก้ไขอุปกรณ์ต่างๆ เช่น พัดลม แผ่นทำความเย็น เครื่องควบคุมสภาวะอากาศในโรงเรือน และอุปกรณ์ที่ใช้ในการเลี้ยงไก่ทั้งหมด ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานอยู่เสมอ นอกจากนั้นควรการจัดการด้านการป้องกันโรค ทั้งภายในโรงเรือนและภายในฟาร์ม ตามระบบการสุขาภิบาล

ระบบอีแว้ป



3.4  เทคนิคการจัดการกกลูกไก่ (Brood management) โดยทั่วไปโรงเรือนอีแว๊ปจะติดตั้ง แผ่นทำความเย็น (Cooling Pad) ไว้ที่ส่วนด้านหน้าและติดตั้งพัดลมไว้ที่ส่วนด้านท้ายของโรงเรือน ซึ่งการเลี้ยงลูกไก่โดยเฉพาะช่วงอายุ 7 วันแรก ต้องการพื้นที่เพียง 1 ใน 3 ส่วนของพื้นที่เลี้ยงไก่ทั้งหมดเท่านั้น

 

ดังนั้น การใช้พื้นที่กกลูกไก่จึงควรใช้เท่าที่จำเป็นเพื่อประหยัดพลังงานไฟฟ้าหรือแก๊สที่ใช้ทำความร้อนในการกกลูกไก่ กล่าวคือ ใช้พื้นที่สำหรับกกลูกไก่ระยะ 7 วันแรกเพียง 1/3 ของพื้นที่เลี้ยงไก่ทั้งหมด หลังจากนั้นก็ค่อยๆขยายพื้นที่เลี้ยงไก่ให้มากขึ้นตามการเจริญเติบโตของไก่จนเต็มพื้นที่ พื้นที่สำหรับกกลูกไก่ ควรเริ่มที่บริเวณด้านท้ายโรงเรือน (ด้านที่ติดตั้งพัดลม) โดยให้ปูวัสดุรองพื้นสำหรับการกกลูกไก่เท่าที่จำเป็นและให้ปูวัสดุรองพื้นเพิ่มตามการขยายพื้นที่เลี้ยงไก่ วัสดุรองพื้นที่ยังไม่ได้ใช้ควรกองไว้ก่อน (อย่านำมาปูพื้นทั้งหมด) เพื่อป้องกันความสกปรกก่อนการใช้งาน

 

ข้อดีของการติดตั้งเครื่องกกไว้ใกล้กับที่ติดตั้งพัดลมดูดอากาศ จะช่วยระบายอากาศเสียที่เกิดจากการเผาไหม้แก๊สออกจากโรงเรือนได้ดีขึ้น อากาศเสียจะไม่ไหลผ่านตลอดโรงเรือนเหมือนการติดตั้งเครื่องกกไว้ด้านหน้า (ด้านติดตั้งแผ่นทำความเย็น)

 

นอกจากนั้น การกกลูกไก่ในขณะที่อากาศหนาวเย็น สามารถใช้วิธีการระบายอากาศแบบจังหวะเวลา (Pulsation) โดยคำนวณให้พัดลมทำงานและหยุดทำงาน เพื่อการระบายอากาศออกจากโรงเรือนเป็นรอบครั้งละ 1/3 - 1/2 ของปริมาตรโรงเรือนทั้งหมด จะทำให้อากาศหนาวเย็นจากภายนอกที่ไหลเข้ามาแทนที่ปริมาณอากาศที่ถูกดูดออกไป จะหยุดการไหลอยู่ในบริเวณที่กำหนด ซึ่งจะไม่ถึงบริเวณที่ใช้กกลูกไก่ และเมื่อลูกไก่มีอายุมากขึ้นมันก็จะมีความทนทานต่ออากาศหนาวเย็นได้มากขึ้นด้วย สิ่งที่ควรพิจารณาต่อไปก็คือ การเลือกใช้เครื่องกกลูกไก่ให้เหมาะสมกับโรงเรือนอีแว๊ป

 

กล่าวคือ โรงเรือนอีแว๊ปที่ใช้งานในภูมิอากาศร้อนชื้นจะมีการระบายอากาศออกจากโรงเรือนอยู่ตลอดเวลา ดังนั้น เครื่องกกลูกไก่จึงควรเป็นแบบรังสีความร้อน (Infrared Brooder) ซึ่งเป็นอุปกรณ์ให้ความอบอุ่นเฉพาะตำแหน่งหรือบริเวณที่ลูกไก่อยู่อาศัย (Spot Heater) เนื่องจากรังสีอินฟราเรดจะเดินทางไปในรูปของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic Wave) ซึ่งเป็นพลังงานรูปหนึ่ง เมื่อรังสีอินฟราเรดตกกระทบวัตถุมันจึงจะเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนหรือก็คือการแผ่รังสีความร้อน (Radiated Heat) ลมซึ่งเป็นพาหะหรือตัวพาความร้อนที่ดี จะมีอิทธิพลต่อการแผ่รังสีความร้อนน้อยมาก จึงทำให้เกิดการสูญเสียพลังงานน้อยมาก เว้นแต่เมื่อรังสีอินฟราเรดได้ตกกระทบวัตถุและเปลี่ยนเป็นความร้อนแล้ว ลมจึงจะสามารถพาความร้อนนั้นไปได้

 

ดังนั้น ในการกกลูกไก่ จึงแนะนำให้ใช้ แผ่นป้องกันลม (Wind Guard) มีลักษณะเป็นแผ่นทึบสูงประมาณ 0.30 เมตร ปิดบังล้อมรอบบริเวณกกลูกไก่ เพื่อป้องกันไม่ให้ลมพัดผ่านตัวลูกไก่โดยตรงและเป็นการบังคับไม่ให้ลูกไก่อยู่หางจากเครื่องกกมากเกินไป อนึ่ง ไม่แนะนำให้ใช้เครื่องกกลูกไก่แบบเป่าลมร้อน (Blower HeaterBrooder) เพราะเป็นอุปกรณ์ทำความร้อนโดยใช้ขดลวดไฟฟ้าหรือการเผาไหม้แก๊สเป็นแหล่งกำเนิดความร้อน และใช้ลม (มีพัดลมอยู่ภายในเครื่อง) เป็นตัวพาความร้อนให้กระจายออกไป การพาความร้อน(Convection) เป็นการใช้พาหะเพื่อพาความร้อนไป และลมถือเป็นพาหะหรือตัวพาความร้อนที่ดี เครื่องกกแบบนี้จึงเหมาะสมกับการใช้งานเพื่อให้เกิดความอบอุ่นตลอดทั้งโรงเรือนเพื่อให้คนที่ทำงานได้รับความอบอุ่นด้วย นิยมใช้กับโรงเรือนในท้องถิ่นที่มีภูมิอากาศหนาวเย็นซึ่งมักมีอัตราการระบายอากาศต่ำมาก เพื่อเก็บและนำพลังงานความร้อนที่ไก่ระบายออกมา ช่วยให้เกิดความอบอุ่นร่วมด้วย ซึ่งเป็นการประหยัดพลังงานความร้อนวิธีหนึ่ง การนำเครื่องกกลูกไก่แบบนี้มาใช้กับโรงเรือนอีแว๊ปในท้องถิ่นที่มีภูมิอากาศร้อนชื้นอย่างประเทศไทย น่าจะเป็นการไม่เหมาะสม เพราะความร้อนส่วนหนึ่งที่เครื่องกกผลิตออกมา จะถูกระบายทิ้งไปพร้อมกับการระบายอากาศของโรงเรือนซึ่งมีการระบายอากาศอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้สิ้นเปลืองพลังงานความร้อนมากขึ้น

 

การเตรียมการเพื่อรับลูกไก่ ควรจัดเตรียมโรงเรือนและอุปกรณ์สำหรับกกลูกไก่ให้พร้อมอยู่เสมอ เมื่อลูกไก่มาถึงให้นับจำนวนพร้อมกับนำเข้ากกทันที ไม่ควรกกลูกไก่หนาแน่นเกินไป จำนวนลูกไก่ควรเหมาะสมกับขนาดของเครื่องกกและสภาวะอากาศในโรงเรือน กรณีที่ลูกไก่ตกค้างอยู่ที่โรงฟักนานหรือลูกไก่ใช้เวลาเดินทางนานผิดปกติ และคาดว่าลูกไก่ที่จะมาถึงฟาร์มอาจมีอาการอ่อนเพลียมาก ให้เตรียม “น้ำผสม” โดยใช้น้ำตาลทราย (ควรใช้น้ำตาลทรายที่ไม่ฟอกสี) ประมาณ 5 - 10 % เพื่อให้ลูกไก่ได้ดื่มทันทีในช่วงเวลา 12 ชั่วโมงแรกที่ลูกไก่เข้ากก และถ้าลูกไก่มีความเครียดหรือมีอาการเสียน้ำ (Dehydration) ร่วมด้วย เช่น หน้าซีดและแข้งเหี่ยว ควรให้วิตามินซี ในอัตรา 100 - 200 ppm(100 - 200 mg/lit) และเกลือแร่ (Electrolyte) ตามอัตราที่ผู้ผลิตกำหนดร่วมด้วย เพื่อให้ลูกไก่ดื่มเฉพาะช่วงเวลา 4 ชั่วโมงแรกที่ลูกไก่เข้ากก

 

หลังจากนั้นให้ใช้น้ำผสมน้ำตาลทรายต่อจนครบเวลา 12 ชั่วโมงแรกที่ลูกไก่เข้ากก นอกจากนั้น ไม่ควรให้ยาปฏิชีวนะ เว้นแต่มีข้อบ่งชี้ว่ามีการติดเชื้อมาจากโรงฟักหรือจากการเดินทาง ควรทำน้ำผสมครั้งละพอประมาณและควรทำบ่อยๆ น้ำที่ผสมแล้วควรใช้ให้หมดภายใน 4 ชั่วโมง ถ้าเกินเวลาให้ทิ้งไปแล้วทำน้ำผสมใหม่ ข้อควรระวัง อย่าปล่อยให้ลูกไก่เล่นน้ำที่ผสมน้ำตาลและคอยดูแลอย่าให้มดมารบกวนลูกไก่ การให้น้ำลูกไก่ในระยะ 1 - 3 วันแรก ควรใช้กระติกน้ำสำหรับลูกไก่ เพื่อให้ลูกไก่ได้ดื่มน้ำอย่างเต็มที่และทั่วถึง หลังจากนั้นจึงฝึกให้ลูกไก่ดื่มน้ำจากจุ๊บน้ำ (Nipple)

 

หลังจากลูกไก่เข้ากกแล้วผู้ดูแลต้องสังเกตอาการลูกไก่ ควรให้ลูกไก่ได้รับความอบอุ่นอย่างสม่ำเสมอทั่วถึงทุกตัว ควรช่วยเหลือให้ลูกไก่ทุกตัวได้ดื่มน้ำเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ และควรรออย่างน้อย 3 - 4 ชั่วโมง จึงจะเริ่มให้อาหาร การให้อาหารลูกไก่ในระยะ 1 - 3 วันแรก ควรให้ครั้งละน้อยๆ ด้วยวิธีโปรยอาหารลงในถาดอาหาร (อาจใช่กล่องลูกไก่ตัดขอบออกเพื่อใช้ทำเป็นถาดอาหาร) หรือโปรยอาหารลงบนกระดาษปูพื้นเพื่อให้ลูกไก่ได้เดินคุ้ยเขี่ยอาหารกินได้ (ถ้ากระดาษเปียกหรือเปื่อยยุ่ย ให้เปลี่ยนใหม่)

 

หลังจากนั้นจึงเริ่มให้อาหารจากถาดของเครื่องให้อาหาร ด้วยวิธีตักอาหารมาเทใส่ถังหรือเดินเครื่องให้อาหารก็ได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับแบบหรือระบบของเครื่องให้อาหาร การควบคุมอุณหภูมิในการกกลูกไก่ กรณีที่อากาศมีความหนาวเย็นหรืออุณหภูมิต่ำกว่า 30 oC ควรเปิดไฟเครื่องกกก่อนที่ลูกไก่จะมาถึง 1 - 2 ชั่วโมง อุณหภูมิกกลูกไก่วันแรก ประมาณ 32 - 35 oC หลังจากนั้นให้ลดอุณหภูมิกกลงครั้งละ 1 oC ทุกๆ 5 วัน และเมื่อไก่มีอายุครบ 21 วัน สภาวะอากาศในโรงเรือนควรอยู่ในเกณฑ์ สภาวะเหมาะสม (Comfortable Zone) คือ 18 - 25 °C กรณีท้องถิ่นที่มีภูมิอากาศแบบร้อนชื้น ควรควบคุมสภาวะอากาศในโรงเรือนไว้ไม่เกิน 30 oC ถ้าอุณหภูมิสูงกว่านี้ ให้เปิดระบบอีแว๊ปเพื่อช่วยลดอุณหภูมิอากาศ การเปิดไฟกกลูกไก่ กรณีใช้เครื่องกกแบบรังสีความร้อน (Infrared Brooder) ให้ดูที่อุณหภูมิในพื้นที่กก หรือถ้าใช้เครื่องกกแบบเป่าลมร้อน (Blower HeaterBrooder) ให้ดูอุณหภูมิในโรงเรือนที่ระดับสูง 0.30 -0.50 เมตร จากระดับพื้นที่ใช้กกลูกไก่ ถ้าอุณหภูมิกกลูกไก่พอดีก็ไม่ต้องเปิดไฟกก แต่ถ้าอุณหภูมิต่ำเกินกว่ากำหนดให้เปิดไฟกกเพื่อเพิ่มความร้อนเท่าที่จำเป็น หรือถ้าอุณหภูมิสูงเกินกว่ากำหนดให้ปิดไฟกกและเปิดพัดลมช่วยระบายความร้อนหรืออาจเปิดระบบอีแว๊ปเพื่อช่วยปรับสภาวะอากาศในโรงเรือนด้วยก็ได้



ไก่เนื้อ



3.5  การให้อาหาร (Feeding Management) การเลี้ยงไก่เนื้อโดยทั่วไปมักให้อาหารแบบไม่จำกัด กล่าวคือไก่สามารถกินอาหารได้ตลอดเวลาโดยไม่จำกัดจำนวน นิยมเก็บอาหารไว้ในถังเก็บอาหาร (Silo หรือ Feed Bin) ซึ่งอยู่นอกโรงเรือน อาหารไก่เนื้อจะถูกส่งไปยัง ถังพักอาหาร (Hopper) ของเครื่องให้อาหารอัตโนมัติแต่ละแถว ซึ่งจะ ติดตั้งอุปกรณ์ควบคุมระดับอาหารไว้ที่ ถังพักอาหาร (Hopper) ถังใดถังหนึ่งหนึ่ง เพื่อควบคุมการส่งอาหาร ซึ่งอาจติดตั้งอุปกรณ์ชั่งน้ำหนักอาหารร่วมด้วยก็ได้

 

ทั้งนี้ เพื่อเก็บข้อมูลการกินอาหารของไก่ให้เป็นไปอย่างถูกต้องแม่นยำและเพื่อการควบคุมการทำงานทางไกลด้วยระบบInternet of Thing (IoT) การเลี้ยงไก่เนื้อโดยทั่วไป นิยมใช้เครื่องให้อาหารแบบ “ถาดอาหาร” (Pan Feeder) แบบติดตั้งเป็นแถวเดี่ยว (Straight-line System) ซึ่งแต่ละแถวควรห่างกันประมาณ 4 เมตร ตำแหน่งถาดอาหาร ควรกระจายอยู่ทั่วพื้นที่เลี้ยงไก่อย่างสม่ำเสมอ และมีจำนวนเหมาะสมกับจำนวนไก่หรือประมาณ 40 ตัว/ถาด อย่างไรก็ตาม การใช้อุปกรณ์พาอาหารแบบเหล็กเกลียว (Auger) ด้วยวิธีการหมุน (Spinning Method) ระยะทางการพาอาหารที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 60 เมตร เพราะระยะทางที่ไกลเกินไป จะทำให้อาหารผง (Mash Feed) แยกตัว หรืออาหารอัดเม็ด (Pellet Feed) มีเม็ดแตกมากขึ้น

 

ซึ่งโรงเรือนอีแว๊ปโดยทั่วไปนิยมใช้ขนาดยาว 100 - 120 เมตร ดังนั้น จึงควรใช้ ถังพักอาหาร (Hopper) แบบจ่ายอาหารออกสองทาง โดยติดตั้งถังพักอาหารไว้ที่กึ่งกลางของแถวรางอาหาร ซึ่งจะทำให้การพาอาหารไปถึงถาดใบสุดท้ายมีระยะทางสั้นลง และไก่จะได้รับอาหารที่มีคุณภาพดีกว่า นอกจากนั้น ควรปรับระดับความสูงของถาดอาหารให้สัมพันธ์กับการเจริญเติบโตของไก่อยู่เสมอ โดยให้ถาดอาหารอยู่ที่ระดับหลังไก่ ทั้งนี้ เพื่อช่วยลดการปนเปื้อนของอาหาร และอาหารที่ใช้ควรเป็นอาหารใหม่อยู่เสมอ เพราะอาหารที่เก็บไว้นานเกินไป จะทำให้คุณภาพอาหารลดลง หรือเกิดเชื้อรา (Fungus) และสารพิษจากเชื้อรา (Mycotoxin) ขึ้นได้

ไก่เนื้อ

 

 

 

Visitors: 151,376