การผลิตไก่เนื้อเชิงอุตสาหกรรม ตอนที่ 4

ไก่เนื้อ

การผลิตไก่เนื้อเชิงอุตสาหกรรม (ตอนที่ 4)

3. การจัดการในกระบวนการผลิตไก่เนื้อ (Broiler Production Management) มีดังนี้

 

3.1 รูปแบบของโรงเรือน (Housing Design)

ารผลิตไก่เนื้อในปัจจุบันนิยมใช้โรงเรือนปรับอากาศด้วยวิธีระเหยน้ำ (Evaporative Cooling House) หรือนิยมเรียกสั้นๆว่า “โรงเรือนอีแว๊ป” ซึ่งเป็นโรงเรือนแบบปิดใช้ระบบการระบายอากาศร่วมกับการทำความเย็นด้วยการระเหยน้ำ โดยนำเอาหลักการระบายอากาศแบบอุโมงค์ลม (Tunnel Ventilation) การทำความเย็นด้วยการระเหยน้ำ (Evaporative Cooling) ปฏิกิริยาความเย็นจากลม (Effective Temperature หรือ Wind Chill Effect) และหลักวิชาสัตวบาล (Animal Husbandry) หรือสัตวศาสตร์ (Animal Science) มาใช้ร่วมกัน เพื่อปรับปรุงสภาวะอากาศในโรงเรือนให้เหมาะสมกับการอยู่อาศัยของสัตว์เลี้ยงมากกว่าสภาวะอากาศตามธรรมชาติในท้องถิ่น ทั้งนี้ เพื่อให้สัตว์เลี้ยง มีสุขภาพดี มีประสิทธิภาพในการผลิตสูง ให้ผลิตผลที่ดีมีคุณภาพ และคุ้มค่าต่อการลงทุน 

 

อย่างไรก็ตาม โรงเรือนอีแว๊ปจะมีประสิทธิภาพสูงเมื่อสภาวะอากาศตามธรรมชาติมีความชื้นต่ำและประสิทธิภาพจะต่ำลงเมื่ออากาศมีความชื้นสูง โรงเรือนอีแว๊ป ควรมีค่าความกดดันต่าง (Different Pressure)12.5 - 37.5 Pa หรือ 0.05 - 0.15 inH2O เพราะถ้าความกดดันอากาศต่างกันน้อยเกินไปอาจทำให้อากาศไม่ไหล หรือถ้าความกดดันอากาศต่างกันมากเกินไปอาจทำให้พัดลมต้องทำงานหนักมากขึ้นและทำให้ประสิทธิภาพพัดลมต่ำลง เพราะพัดลมแบบ Axial Fan ที่ใช้กับโรงเรือนอีแว๊ปทั่วไป จะทำงานได้ดีและคุ้มค่า ที่ความกดดันสถิต (Static Pressure) ไม่เกิน 37.5 Pa หรือ 0.15 inH2O

 

การออกแบบโรงเรือนอีแว๊ปในท้องถิ่นภูมิอากาศร้อนชื้น จะต่างจากโรงเรือนในท้องถิ่นภูมิอากาศหนาวหรืออบอุ่นมาก เพราะโรงเรือนในท้องถิ่นภูมิอากาศร้อนชื้นต้องการระบายความร้อนออกจากโรงเรือนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในขณะที่โรงเรือนในท้องถิ่นภูมิอากาศหนาวหรืออบอุ่นต้องการเก็บความร้อนไว้ในโรงเรือนให้มากที่สุดเพื่อลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพลังงานความร้อน โดยทั่วไป ความร้อนที่เกิดขึ้นในโรงเรือนอีแว๊ป มีแหล่งที่มาสำคัญ 2 ทาง ได้แก่ 

 

ความร้อนที่เกิดขึ้นภายในโรงเรือน เป็นความร้อนที่ระบายออกมาจากตัวสัตว์ Donald, J.(5) กล่าวว่า ไก่เนื้ออายุ 7 สัปดาห์ น้ำหนักเฉลี่ย 4 lb (1.82 kg) จำนวน 20,000 ตัว สามารถผลิตความร้อนได้ 360,000 -480,000 BTU/h (90,720 - 120,960 kcal/h) และความชื้นประมาณ 1,000 gal/d (3,800 L/d) (ถ้าเปรียบเทียบกับการทำความเย็นเพื่อดูดซับความร้อนเหล่านี้ ต้องใช้เครื่องปรับอากาศขนาด 12,000 BTU/h ซึ่งเหมาะสมกับห้องนอนขนาด 4.00x4.00 เมตร จำนวน 30 - 40 เครื่อง) ซึ่งเป็นปริมาณความร้อนมากที่สุด ประมาณ 75 - 80 % ของความร้อนที่เกิดขึ้นในโรงเรือนทั้งหมด และ 

 

ความร้อนที่มาจากภายนอกโรงเรือน ส่วนใหญ่เป็นอิทธิพลจากดวงอาทิตย์ (Solar Heat) และรังสีความร้อนส่วนใหญ่ได้แก่ รังสีอินฟราเรด ซึ่งเป็นรังสีที่คนมองไม่เห็น ถูกหักเหหรือสะท้อนกลับได้ดีเมื่อตกกระทบกับวัตถุที่มีผิวเป็นมันวาวหรือสีขาว มีช่วงคลื่นยาวจึงสามารถทะลุผ่านวัตถุทึบแสงได้ดี ถือว่าเป็นแหล่งความร้อนจากภายนอกโรงเรือนมากที่สุดประมาณ 70-80 % ของความร้อนที่มาจากภายนอกโรงเรือนหรือคิดเป็นประมาณ 14-20 % ของความร้อนที่เกิดขึ้นในโรงเรือนทั้งหมด และความร้อนจากสภาพแวดล้อมนอกโรงเรือนหรือความร้อนที่สะสมอยู่ในเนื้อวัตถุที่ห่อหุ้มโรงเรือนซึ่งถูกนำเข้าโรงเรือนด้วยวิธีการนำความร้อน (Conduction) ประมาณ 20-30 % ของความร้อนจากภายนอกโรงเรือนหรือคิดเป็นประมาณ 4-8 % ของความร้อนที่เกิดขึ้นในโรงเรือนทั้งหมด

 

ดังนั้น การออกแบบโรงเรือนจึงต้องคำนึงถึงการระบายอากาศในโรงเรือนเป็นหลัก มีการกระจายลมที่ดี ลดสิ่งกีดขวางทางเดินของลม และหลีกเลี่ยงการเกิดจุดอับลมในโรงเรือนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ หลักการทำงานของโรงเรือนอีแว๊ป ในขณะที่อากาศมีอุณหภูมิไม่สูงเกินไป ควรใช้อัตราการระบายอากาศที่เหมาะสม เมื่ออากาศมีอุณหภูมิสูงมากขึ้น จึงจำเป็นต้องใช้การระเหยน้ำเพื่อทำให้อุณหภูมิอากาศลดลง เพราะทุกๆ 1 กรัมของน้ำที่ระเหยไปจะดูดซับความร้อนแฝง (Latent Heat) ไป 540 แคลอรี่ เมื่ออากาศที่ผ่านเข้ามาในโรงเรือนมีอุณหภูมิต่ำลง จะทำให้ประสิทธิภาพของ ปฏิกิริยาความเย็นจากลม (Effective Temperature หรือ Wind Chill Effect) สูงขึ้น ซึ่งจะช่วยให้อุณหภูมิอากาศในโรงเรือนเย็นสบายมากกว่าอุณหภูมิอากาศในท้องถิ่นตามธรรมชาติ อย่างไรก็ตาม การระเหยน้ำ จะทำให้อากาศในโรงเรือนมีความชื้นสูงขึ้นและถ้ามีความชื้นสูงมากเกินไปอาจเป็นอันตรายต่อสัตว์ได้ การตรวจสอบอุณหภูมิและความชื้นอากาศในโรงเรือนตลอดเวลาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง และต้องไม่ลืมว่า ค่าอุณหภูมิที่อ่านได้จาก เครื่องวัดอุณหภูมิ (Thermometer) ในโรงเรือน ก็คือพลังงานความร้อนในโรงเรือนขณะนั้นที่มีผลต่อความเป็นอยู่ของไก่โดยตรง และไม่มีค่าอุณหภูมิในจินตนาการอื่นใดที่จะช่วยทำให้ไก่มีความสุขสบายมากไปกว่านี้อีกแล้ว  

 
คูลลิ่งแพด
 

3.2  การควบคุมสภาวะอากาศในโรงเรือนอีแว๊ป (Climate Controll)

 

โดยทั่วไป สัตว์ต้องการสภาวะอากาศที่สุขสบาย หรือเรียกว่า สภาวะเหมาะสม (Comfortable Zone) เช่น ลูกไก่ต้องการสภาวะอากาศที่มีอุณหภูมิ 30 - 35 °C (86 - 95 °F) และความชื้น 50 - 70 %RH  ส่วนไก่ที่โตเต็มวัยต้องการสภาวะอากาศที่มีอุณหภูมิ 18 - 25 °C (65 - 77 °F) และความชื้น 40 - 70 %RH  ในทางปฏิบัติ นิยมใช้เครื่องควบคุมที่เป็นอุปกรณ์ประมวลผลขนาดเล็ก (Microprocessor) ทำงานเป็นปัจจุบัน (Real time) มีโปรแกรม (Software) ควบคุมการทำงานของพัดลมและปั๊มน้ำอย่างถูกต้องแม่นยำ และรองรับความต้องการของไก่ได้ดี การทำงานจะใช้วิธีสั่งงานผ่านสวิทช์ตัดต่อไฟฟ้า (Relay) ให้ทำการเปิดหรือปิดพัดลมตามค่าอุณหภูมิในโรงเรือน และทำการเปิดหรือปิดปั๊มน้ำตามค่าอุณหภูมิและค่าความชื้นในโรงเรือน กล่าวคือ ในขณะที่อุณหภูมิอากาศไม่สูงมากหรืออยู่ในเกณฑ์ “สภาวะเหมาะสม” เครื่องควบคุมจะสั่งให้พัดลมเปิดทำงานเท่าที่จำเป็น เพื่อรักษาอัตราการระบายอากาศในโรงเรือนอย่างเหมาะสม

 

เมื่ออุณหภูมิอากาศในโรงเรือนสูงเกินกว่ากำหนด เครื่องควบคุมจะสั่งให้พัดลมเปิดทำงานมากขึ้นตามค่าอุณหภูมิที่ตั้งไว้ ซึ่งควรให้พัดลมตัว (ชุด) สุดท้ายเปิดทำงาน (กรณีใช้ Inverter ต้องให้พัดลมทำงาน 100%) ที่อุณหภูมิ 27 - 29 °C ส่วนการปิดพัดลมให้ตั้งค่าอุณหภูมิต่าง (Different Temperature) ต่ำกว่าค่าที่สั่งให้เปิดพัดลม 0.5 °C ถ้าอุณหภูมิอากาศยังคงสูงขึ้นเรื่อยๆ ควรสั่งให้ปั๊มน้ำเริ่มทำงาน การตั้งค่าอุณหภูมิเพื่อเปิดระบบปั๊มน้ำหรือให้ระบบปั๊มน้ำเข้าสู่สถานะทำงาน (Start Cooling Mode) ที่ 27 - 29 °C หรือใช้ค่าเท่ากับค่าอุณหภูมิที่ใช้สั่งให้พัดลมตัว (ชุด) สุดท้ายเปิดทำงาน (ควรให้ปั๊มน้ำเริ่มทำงานเมื่อพัดลมเปิดทำงานครบทุกตัวแล้ว) การตั้งค่าอุณหภูมิเพื่อปิดระบบปั๊มน้ำหรือให้ระบบปั๊มน้ำออกจากสถานะทำงาน (Close or LeaveCooling Mode) ให้ตั้งค่าอุณหภูมิต่าง (Different Temperature) ต่ำกว่าค่าอุณหภูมิที่สั่งให้เปิดระบบปั๊มน้ำ 0.5 °C จากนั้น ให้ตั้งค่าความชื้นระดับสูงสุด (High Humidity) เพื่อปิดปั๊มน้ำที่ 75 - 85 %RH และตั้งค่าความชื้นระดับต่ำสุด (Low Humidity) เพื่อเปิดปั๊มน้ำให้ทำงานอีกครั้งที่ค่าความชื้นต่ำกว่าค่าความชื้นระดับสูงสุด 5 %RH การทำงานของระบบปั๊มน้ำดังกล่าวจะเป็นดังนี้ เครื่องควบคุมจะสั่งให้ปั๊มน้ำเข้าสู่สถานะทำงานตามค่าอุณหภูมิที่ตั้งไว้ และขณะที่ความชื้นมีค่าต่ำกว่าระดับต่ำสุด (Low Humidity) ปั๊มน้ำจะทำงาน อากาศในโรงเรือนจะเย็นลงและความชื้นจะสูงขึ้น เมื่อความชื้นมีค่าถึงระดับสูงสุด (High Humidity) ปั๊มน้ำจะหยุดทำงานชั่วคราว แล้วจะกลับมาทำงานอีกครั้งเมื่อค่าความชื้นลดต่ำลงถึงระดับต่ำสุด (Low Humidity) ปั๊มน้ำจะทำงานเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งอุณหภูมิในโรงเรือนต่ำลงถึงค่าอุณหภูมิต่างที่ตั้งไว้ ระบบปั๊มน้ำจะถูกปิดและออกจากสถานะทำงาน (Close or Leave Cooling Mode)

 

จะเห็นว่า ระบบอีแว๊ปจะถูกควบคุมให้ทำงานไปตามสถานการณ์จริงตลอดเวลา ซึ่งจะทำให้สภาวะอากาศในโรงเรือนมีการเปลี่ยนแปลงไม่มากทั้งอุณหภูมิและความชื้น และมีสภาวะอากาศดีกว่าธรรมชาติในท้องถิ่น สัตว์จึงไม่เกิดความเครียด (Heat Stress) หรือเกิดความเครียดต่ำ ส่งผลให้สัตว์มีสุขภาพดีและมีประสิทธิภาพในการผลิตสูง อย่างไรก็ตาม การตั้งค่าอุณหภูมิและความชื้นเพื่อควบคุมการทำงานของโรงเรือนอีแว๊ป ผู้ปฏิบัติต้องมีความรู้เกี่ยวกับความต้องการและพฤติกรรมของไก่เนื้อ ต้องเข้าใจระบบอีแว๊ปเป็นอย่างดี ต้องทราบสภาวะอากาศตามธรรมชาติในท้องถิ่น และต้องรู้ถึงประสิทธิภาพและขีดจำกัดของโรงเรือนอีแว๊ปที่ใช้งาน เช่น การตั้งค่าความชื้นสูงสุดในโรงเรือนให้สูงขึ้น 5 %RH จะทำให้อากาศที่ไหลผ่านแผ่นทำความเย็นมีอุณหภูมิต่ำลงประมาณ 1 °C (ที่ ambient 38 °C และ 45 %RH) หรือถ้าต้องการให้สามารถรองรับค่าความชื้นสูงสุดได้ถึง 80 - 85 %RH โรงเรือนอีแว๊ปต้องมีความเร็วลมเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 2.7 - 3.0 m/s ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถทำได้ถ้ามีการออกแบบก่อสร้างโรงเรือนอีแว๊ปอย่างถูกต้องมาตั้งแต่แรก การแก้ไขปรับปรุงโรงเรือนอีแว๊ปในภายหลังอาจได้ผลไม่เต็มที่หรืออาจไม่คุ้มค่าใช้จ่าย อนึ่ง ไม่แนะนำให้ใช้วิธีการ เปิดหรือปิดปั๊มน้ำ ด้วยเครื่องตั้งเวลา (Timer) เพราะเวลาไม่มีความสัมพันธ์ใดๆกับค่าความชื้นที่เกิดขึ้นในโรงเรือน และมักเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาความชื้นและค่า Heat Stress Index (HSI) สูงเกินไป จนอาจเป็นอันตราต่อสัตว์เลี้ยงได้

 

การควบคุมสภาวะอากาศในโรงเรือนอีแว๊ป ควรเป็นไปตามการเจริญเติบโตของไก่ ตามสภาวะอากาศในท้องถิ่นที่มีภูมิอากาศแบบร้อนชื้น หลังจากไก่มีอายุเกิน 21 วัน อุณหภูมิเฉลี่ยในโรงเรือนไม่ควรสูงกว่า 30 oC และค่า Heat Stress Index(HSI) ไม่ควรเกิน 167 จากประสบการณ์ของผู้เขียนพบว่า ในภาคกลางของประเทศไทยหรือในพื้นที่ราบลุ่มที่มีแหล่งน้ำขนาดใหญ่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง อากาศมักมีความชื้นสูง โรงเรือนอีแว๊ปในบริเวณดังกล่าว สามารถทำค่า HSI ได้ประมาณ 165 เท่านั้น และไก่เนื้อขนาด 2.00 - 2.20 kg ขึ้นไปอาจตายได้ถ้า HSI มีค่า 170 - 172 ขึ้นไป ดังนั้น การเลี้ยงไก่เนื้อในสภาวะอากาศเช่นนี้ ควรชดเชยความไม่เหมาะสมของสภาวะอากาศ ด้วยการลดความหนาแน่นในการเลี้ยงไก่เนื้อลงให้เหลือไม่เกิน 28 กก./ตร.ม. เพื่อให้การผลิตไก่เนื้อยังคงมีประสิทธิภาพสูงและคุ้มค่าต่อการลงทุน

 

เทคนิคการควบคุมสภาวะอากาศในโรงเรือนอีแว๊ป ด้วยค่า Heat Stress Index(HSI) ซึ่งเป็นค่าที่ได้จากการคำนวณ กล่าวคือ เป็นผลรวมของค่าอุณหภูมิอากาศที่มีหน่วยเป็นองศาฟาเรนไฮท์ (oF)และค่าความชื้นในอากาศที่มีหน่วยเป็นเปอร์เซ็นต์ (% หรือ %RH) หรืออาจกล่าวได้ว่า เป็นปัจจัยสำคัญของพลังงานความร้อนในอากาศนั่นเอง ปัญหาที่มักพบในโรงเรือนอีแว็ป ที่เกิดจาก HSI มีค่าสูง เช่น การพบไก่เนื้อขนาด 2.20 - 2.50 kg ตายมากผิดปกติในตอนเช้า นั่นแสดงว่าโรงเรือนอีแว๊ปมีปัญหาเมื่อคืนที่ผ่านมา

 

หลายคนสงสัยว่าเป็นไปได้อย่างไร เพราะตอนกลางคืนอุณหภูมิอากาศจะต่ำไก่น่าจะอยู่อย่างสุขสบายมากกว่าตอนกลางวัน สาเหตุของปัญหาดังกล่าวพออธิบายได้ดังนี้ โดยทั่วไป เมื่ออากาศจะเย็นลงในตอนกลางคืน พัดลมก็จะทยอยปิดการทำงานตามค่าอุณหภูมิที่ตั้งไว้ อัตราการระบายอากาศในโรงเรือนก็จะลดลงด้วย ในขณะเดียวกันความชื้นอากาศนอกโรงเรือนจะสูงขึ้นตามสภาวะอากาศที่เย็นลงซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ แม้ว่าปั๊มน้ำสำหรับแผ่นทำความเย็น (Cooling pad) จะไม่ได้ทำงาน แต่ความชื้นในโรงเรือนมักจะมีค่าสูงขึ้นจากอากาศที่ไหลเข้ามารวมกับความชื้นที่สะสมอยู่ในโรงเรือน ในท้องถิ่นที่มีภูมิอากาศแบบร้อนชื้นอย่างประเทศไทย อุณหภูมิอากาศตอนกลางคืนอาจลดลงไม่มากนัก เช่น ถ้าอุณหภูมิต่ำลงถึง 26 °C พัดลมก็อาจปิดทำงานไปแล้ว 30 - 40 % ตามการทำงานของเครื่องควบคุมทั่วไปที่ทำงานตามค่าอุณหภูมิ และถ้าความชื้นในโรงเรืองสูงขึ้นถึง 92%RH ซึ่งสามารถคำนวณเป็นค่า HSI = (26 x 1.8 + 32) + 92 = 170.8 จะเห็นว่า ค่า HSI ระดับนี้สามารถทำให้ไก่เนื้อขนาด 2.00 - 2.20 kg ขึ้นไปถึงตายได้ ดังนั้น จึงต้องรีบแก้ไขด้วยการเพิ่มอัตราการระบายอากาศเป็นการด่วนด้วยการเปิดพัดลมให้ทำงานมากขึ้นทันที เพราะการระบายอากาศที่เพิ่มขึ้นจะช่วยพาความร้อนและความชื้นออกไปจากโรงเรือนและทำให้ค่า HSI ลดลงได้ ซึ่งในความเป็นจริงใครจะเป็นคนช่วยเปิดพัดลม เพราะเครื่องควบคุมสภาวะอากาศในโรงเรือนส่วนใหญ่ที่นิยมใช้กันทั่วไปไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ ดังนั้น ควรเลือกใช้เครื่องควบคุมสภาวะอากาศในโรงเรือนที่มีโปรแกรม (Software) ควบคุมและสั่งการพัดลมให้ทำงานตามค่า HSI ร่วมด้วย ไม่ใช่ควบคุมและสั่งงานตามค่าอุณหภูมิเพียงอย่างเดียว

ตาราง Heat Stress

Visitors: 151,412