การผลิตไก่เนื้อเชิงอุตสาหกรรม ตอนที่ 2

ไก่เนื้อ

การผลิตไก่เนื้อเชิงอุตสาหกรรม (ตอนที่ 2)

 

ระบบการผลิตไก่เนื้อเชิงอุตสาหกรรมในประเทศไทย

 

การผลิตไก่เนื้อเชิงอุตสาหกรรม เป็นกิจการปศุสัตว์ที่มีการลงทุนค่อนข้างสูง การผลิตไก่เนื้อ เป็นส่วนหนึ่งของกิจการผลิตเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์แบบครบวงจร หรือนิยมเรียกสั้นๆว่า “กิจการไก่ครบวงจร” กล่าวคือ จะมีกิจการที่เกี่ยวข้องประกอบกันหลายกิจการ เช่น กิจการฟาร์มไก่พันธุ์ (ไก่พ่อแม่พันธุ์หรืออาจรวมถึงไก่ปู่ย่าตายายพันธุ์ด้วย) กิจการโรงฟักไข่ กิจการฟาร์มไก่เนื้อ กิจการโรงงานอาหารสัตว์ กิจการโรงฆ่าและชำแหละไก่ และกิจการโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ เป็นต้น ปัจจุบันมีบริษัทขนาดใหญ่ที่ทำธุรกิจด้านนี้แบบครบวงจรประมาณ 10 บริษัท และยังมีบริษัทขนาดกลาง-เล็ก ซึ่งมีเฉพาะบางกิจการอีกหลายบริษัท มีกำลังการผลิตไก่เนื้อรวมกันประมาณ 33 - 35 ล้านตัวต่อสัปดาห์ ซึ่งสามารถแบ่งตามประเภทของผู้ผลิตได้ 4 แบบ ดังนี้

 

1.   การผลิตไก่เนื้อของตนเอง บริษัทที่ทำธุรกิจไก่ครบวงจร ทำการผลิตไก่เนื้อโดยใช้ทรัพยากรของตนเองทั้งหมด ทั้งนี้ เพื่อความมั่นคงในการป้อนวัตถุดิบให้แก่โรงฆ่าและชำแหละไก่ และโรงงานแปรรูปเนื้อไก่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีความสำคัญต่อความเชื่อมั่นของลูกค้าและการจัดการด้านการตลาดอย่างมาก อย่างไรก็ตาม การทำฟาร์มไก่เนื้อเพื่อรองรับการผลิตของตนเองทั้งหมด ต้องใช้โรงเรือนเลี้ยงไก่จำนวนมาก เช่น ถ้ากำลังการผลิตของโรงฆ่าและชำแหละไก่ มีความต้องการไก่เนื้อขนาดเฉลี่ย 2.50 ก.ก. จำนวน 100,000 ตัวต่อวัน ต้องใช้โรงเรือนอีแว๊ปขนาด 18.50 x 120 เมตร สามารถผลิตไก่เนื้อ 25,000 ตัว/โรงเรือน อัตราการผลิต 5.2 รอบ/ปี จำนวนทั้งสิ้น 280 โรงเรือน ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท นับว่าเป็นการลงทุนที่ค่อนข้างสูง ดังนั้น บริษัทที่ทำกิจการไก่ครบวงจร มักจะทำการผลิตไก่เนื้อของตนเองประมาณ 25 - 30% ของจำนวนไก่ที่ต้องการทั้งหมด นอกจากนั้นจะใช้วิธีการอื่นเพื่อการจัดหาวัตถุดิบป้อนโรงฆ่าและชำแหละไก่อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

 

2.    การผลิตไก่เนื้อแบบจ้างเลี้ยง เป็นการรับจ้างเลี้ยงไก่เนื้อของเกษตรกรเพื่อส่งให้กับบริษัทที่ทำกิจการไก่ครบวงจร โดยผู้รับจ้างต้องมีและจัดหา ที่ดิน โรงเรือน อุปกรณ์การเลี้ยงไก่ แรงงาน น้ำ ไฟฟ้า และวัสดุสิ้นเปลือง ส่วนผู้จ้างจะเป็นผู้จัดหา ลูกไก่ อาหารไก่ ยาและวัคซีนที่จำเป็นต่อการเลี้ยงไก่ การคิดค่าจ้างเลี้ยงมักกำหนดเป็นจำนวนไก่ที่ผู้จ้างได้รับโดยไม่รวมไก่บาดเจ็บและพิการ นอกจากนั้น ยังมีเงื่อนไขเกี่ยวกับประสิทธิภาพการผลิตไก่เนื้อ เช่น น้ำหนักไก่ และอัตราอาหารแลกเนื้อ (FCR) เพื่อใช้ในการพิจารณาให้รางวัลหรือตัดค่าจ้าง การผลิตไก่เนื้อแบบจ้างเลี้ยง ผู้จ้างต้องลงทุนในสัดส่วนที่สูงและมีความเสี่ยงมากกว่าผู้รับจ้าง โดยเฉพาะการกระทำทุจริตคดโกงของผู้รับจ้าง เช่น การลงบันทึกไม่ตรงตามความจริง การลักลอบเอาอาหารไก่ไปขายภายนอกและเอาอาหารราคาถูกมาใช้แทน และการลักลอบเพิ่มหรือลดจำนวนไก่ซึ่งขึ้นอยู่กับราคาไก่เป็นในท้องตลาด ซึ่งล้วนเป็นประโยชน์ของผู้รับจ้าง ถ้าผู้จ้างเลี้ยงควบคุมไม่ถึง จะทำให้ไม่ได้ผลิตผลตามที่ต้องการจนถึงขั้นขาดทุน ปัจจุบัน บริษัทที่ทำธุรกิจไก่ครบวงจรขนาดใหญ่ ไม่นิยมใช้วิธีการนี้แล้ว เว้นแต่ผู้ที่ทำธุรกิจขนาดกลาง-เล็ก โดยอาศัยความเชื่อถือที่มีต่อกัน

 

3.    การผลิตไก่เนื้อแบบประกันราคารับซื้อไก่เนื้อมีชีวิตหรือแบบพันธสัญญา เป็นการตกลงซื้อขายวัตถุดิบในการผลิตและผลิตผลจากการผลิตไก่เนื้อ โดยผู้ผลิตไก่เนื้อ จะเป็นผู้ลงทุนจัดหา ที่ดิน โรงเรือน อุปกรณ์การเลี้ยงไก่ตามที่ผู้จ้างกำหนด แรงงาน น้ำ ไฟฟ้า และวัสดุสิ้นเปลือง ผู้ผลิตไก่เนื้อแบบประกันราคา ต้องซื้อลูกไก่ อาหารไก่ ยาและวัคซีน จากบริษัทผู้รับประกัน และบริษัทผู้รับประกันตกลงที่จะซื้อไก่เนื้อมีชีวิตทั้งนี้ จะเป็นไปตามเงื่อนไขและราคาที่กำหนดในวันทำสัญญา โดยทั่วไป บริษัทผู้รับประกันจะคำนวณส่วนต่างเพื่อให้ผู้เลี้ยงไก่เนื้อประกันราคามีรายได้อยู่ระดับหนึ่ง โดยใช้มาตรฐานประสิทธิภาพการผลิตไก่เนื้อของบริษัทผู้รับประกัน ตัวอย่างเช่น น้ำหนักไก่เนื้อเฉลี่ย 2.50 ก.ก. FCR ไม่เกิน 1.65 ใช้เวลาเลี้ยงไก่ไม่เกิน 40 วัน จำนวนไก่เลี้ยงรอด 97% และค่า PI Score ไม่ต่ำกว่า 367 เป็นต้น ถ้าผู้เลี้ยงไก่เนื้อประกันราคา สามารถทำได้ดีกว่าก็จะมีรายได้มากขึ้น ในทางตรงข้ามถ้าทำไม่ได้หรือมีปัญหาด้านการผลิต ก็จะมีรายได้ลดลงจนอาจถึงขั้นขาดทุนก็ได้ การผลิตไก่เนื้อแบบประกันราคาเป็นที่นิยมของบริษัทที่ทำกิจการไก่ครบวงจร และถือเป็นฐานการผลิตไก่เนื้อที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ข้อดีของระบบการผลิตไก่เนื้อแบบนี้ก็คือ ผู้ผลิตไก่เนื้อไม่ต้องเสี่ยงกับสภาวะความผันผวนของตลาดไก่เนื้อซึ่งมักเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และการได้รับบริการทางด้านวิชาการซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ของบริษัทผู้รับประกันมาช่วยดูแลให้คำแนะนำและช่วยแก้ปัญหาด้านการจัดการ อย่างไรก็ตาม มักมีข้อกล่าวหาและร้องเรียนจากผู้ผลิตไก่เนื้อแบบประกันราคาว่า บริษัทผู้รับประกันมักเอาเปรียบด้วยวิธีการประวิงเวลาการนำลูกไก่เข้าเลี้ยงทำให้จำนวนรอบต่อปีในการเลี้ยงไก่เนื้อลดลง การยืดเวลาการจับไก่เข้าโรงงานทำให้อัตราความเสียหายในฝูงไก่และค่า FCR สูงขึ้น และค่า PI Score ต่ำลง คุณภาพลูกไก่และอาหารไก่มีคุณภาพไม่คงที่ ไม่สม่ำเสมอ หรือมีคุณภาพต่ำลงในบางช่วงเวลา ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตไก่เนื้อไม่ได้ตามมาตรฐาน ซึ่งจะส่งผลกระทบทางด้านการเงินต่อผู้ผลิตไก่เนื้อโดยตรง การชำระเงินค่าขายไก่เนื้อมีชีวิตมักล่าช้าหรือบางรายอาจถูกเก็บเงินไว้เป็นค่าประกันเพิ่มเติมจากข้อตกลง และบางรายอาจถูกเลิกสัญญาอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้ผลิตไก่เนื้อแบบประกันราคา ซึ่งบางรายอาจประสบปัญหาจนถึงขั้นหมดเนื้อหมดตัว เหตุการณ์ในลักษณะนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะผู้เลี้ยงไก่เท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับการรับจ้างผลิตสินค้าเกษตรอีกหลายชนิด จนกลายเป็นปัญหาระดับชาติที่รัฐบาลต้องยื่นมือเข้ามาแก้ไข จึงเป็นที่มาของ พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 มีผลทำให้ผู้ประกอบธุรกิจการเกษตรที่มีการทำสัญญากับบุคคลธรรมดาตั้งแต่ 10 รายขึ้นไป หรือการทำสัญญากับ สหกรณ์การเกษตร กลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน หรือเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ที่มีเงื่อนไขใน การผลิต จำหน่าย การจ้างการผลิตหรือบริการทางการเกษตร โดยผู้ประกอบธุรกิจเกษตรมีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตนั้นด้วย ต้องปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ ทั้งนี้ เพื่อความเป็นธรรมของทั้งสองฝ่าย

 

4.   การผลิตไก่เนื้อแบบฟาร์มอิสระ เป็นการทำกิจการฟาร์มไก่เนื้อด้วยเงินทุนของตนเองทั้งหมด ส่วนใหญ่มักเป็นผู้ที่มีเงินทุนสะสมและแหล่งเงินกู้ที่ดี เป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญหลายด้าน มีการดำเนินกิจการมายาวนานพอสมควร มักมีเครือข่ายของตนเองทั้งด้านการจัดหาวัตถุดิบการผลิตและด้านการตลาด ผู้ผลิตไก่เนื้อบางรายอาจมีการผลิตอาหารไก่ใช้เอง และ/หรือ มีโรงฆ่าและชำแหละไก่เพื่อการจำหน่ายในท้องถิ่น การทำฟาร์มไก่เนื้ออิสระ มีความเสี่ยงสูง แต่ก็มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การจัดการด้านการตลาด เป็นปัญหาของผู้ผลิตไก่เนื้อแบบฟาร์มอิสระมาโดยตลอด โดยเฉพาะสถานการณ์ตลาดที่ราคาไก่เนื้อมีชีวิตตกต่ำอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานหรือสภาวะตลาดที่มีความไม่แน่นอนจนจับทิศทางไม่ถูก ซึ่งมักเกิดจากปัญหาการส่งออกสินค้าเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ไปต่างประเทศได้น้อยลง หรือผู้ผลิตไก่เนื้อประเมินด้านการตลาดสูงเกินไป ทำให้ยังคงรักษาอัตราการผลิตไว้ที่ระดับสูงอย่างต่อเนื่องจนส่งผลกระทบต่อราคาไก่เนื้อมีชีวิตอย่างยาวนาน ปัจจุบันมีผู้ผลิตไก่เนื้ออิสระประมาณ 10-15 % ของปริมาณการผลิตไก่เนื้อทั้งหมด

 
 
Visitors: 151,435