เทคนิคการเลี้ยงไก่เนื้อเชิงอุตสาหกรรม (ตอนจบ)

 

 เทคนิคการเลี้ยงไก่เนื้อระดับอุตสาหกรรม (ตอนจบ)

 

8. เครื่องกกลูกไก่ที่เหมาะสม ปกติโรงเรือนอีแว๊ปจะมีการระบายอากาศอยู่ตลอดเวลา จึงแนะนำให้ใช้ เครื่องกกลูกไก่ แบบรังสีความร้อน (Infrared Brooder) เมื่อรังสีอินฟราเรดตกกระทบวัตถุมันจะเปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนและให้ความอบอุ่นเฉพาะบริเวณ (Spot Heater) ซึ่งเป็นการส่งความร้อนด้วยวิธี การแผ่รังสีความร้อน(Heat Radiation)ลมจึงไม่มีผลต่อปริมาณความร้อนที่ส่งไป เว้นแต่เมื่อรังสีอินฟราเรดได้ตกกระทบวัตถุและเปลี่ยนเป็นความร้อนแล้ว ดังนั้น การกกลูกไก่ด้วยเครื่องกกแบบนี้ จึงควรใช้ แผ่นป้องกันลม (Wind Guard) มีลักษณะเป็นแผ่นทึบสูงประมาณ 0.30 - 0.50 เมตร ปิดล้อมรอบพื้นที่กกลูกไก่ เพื่อป้องกันไม่ให้ลมพัด ผ่านตัวลูกไก่โดยตรงซึ่งส่งผลต่ออุณหภูมิในพื้นที่กกด้วย นอกจากนั้น ยังเป็นการบังคับลูกไก่ไม่ให้อยู่หางจากเครื่องกกมากเกินไป ส่วนการใช้เครื่องกกลูกไก่ แบบเป่าลมร้อน (HotBlower Brooder) เป็นอุปกรณ์ทำความร้อนที่ใช้ขดลวดไฟฟ้าหรือการเผาไหม้แก๊สเป็นแหล่งความร้อน และใช้พัดลมภายในเครื่องเป่าลมร้อนให้กระจายออกไปซึ่งเป็นวิธี การพาความร้อน(Heat Convection) การใช้เครื่องกกแบบนี้ต้องติดตั้งเครื่อกกในตำแหน่งที่ถูกต้องเหมะสมและมีพัดลมช่วยหมุนเวียนอากาศอุ่นให้กระจายไปทั่วโรงเรือนอย่างสม่ำเสมอด้วย อย่างไรก็ตาม เครื่องกกแบบนี้เหมาะกับโรงเรือนที่มีอัตราการระบายอากาศต่ำมาก เพื่อเก็บความร้อนไว้ในโรงเรือนได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงจะประหยัดพลังงานได้ดี การนำอุปกรณ์แบบนี้มาใช้กับโรงเรือนอีแว๊ป อาจทำให้ความร้อนสูญเสียไปกับการระบายอากาศของโรงเรือนมาก และอาจไม่คุ้มค่าในการใช้งาน


9. เทคนิคการจัดการกกลูกไก่ ก่อนลูกไก่มาถึงฟาร์ม ควรเปิดเครื่องกกให้ได้อุณหภูมิตามที่ต้องการ เมื่อลูกไก่มาถึง ให้นับจำนวนและนำเข้ากกทันที ควรดูแลให้ลูกไก่ได้รับความอบอุ่นอย่างสม่ำเสมอทั่วถึงทุกตัว ควรผสมน้ำตาลทรายในน้ำดื่มประมาณ 5% (ควรเป็นน้ำตาลทรายแบบไม่ฟอกสี) ให้ลูกไก่ได้ดื่มเฉพาะช่วงเวลา 12 ชั่วโมงแรกที่เข้ากก เพื่อช่วยลดความอ่อนเพลียจากการเดินทางและช่วยกระตุ้นระบบทางเดินอาหารของลูกไก่ก่อนกินอาหาร กรณีลูกไก่มีความเครียดสูงหรือมีอาการเสียน้ำ (Dehydration) จากการเดินทาง เช่น มีอาการหน้าซีด เหงา ซึม ไม่ร่าเริง และแข้งเหี่ยว ควรให้วิตามินซีในอัตรา 100 - 200 มิลลิกรัมต่อน้ำ 1 ลิตร (100 - 200 ppm) และเกลือแร่ (Electrolyte) ตามอัตราที่ผู้ผลิตกำหนด (สามารถผสมร่วมกับน้ำตาลทรายได้) ผสมน้ำให้ลูกไก่ดื่มเฉพาะช่วงเวลา 4 ชั่วโมงแรกที่เข้ากก ไม่ควรให้ยาปฏิชีวนะ เว้นแต่มีข้อบ่งชี้ว่ามีการติดเชื้อจากโรงฟักหรือจากการเดินทาง การผสมน้ำ ควรทำครั้งละพอประมาณให้ลูกไก่ดื่มหมดใน 4 ชั่วโมง เมื่อหมดแล้วจึงผสมน้ำให้ใหม่ ข้อควรระวัง อย่าปล่อยให้ลูกไก่เล่นน้ำ ถ้าลูกไก่เปียกน้ำให้ซับน้ำออกจากตัวไก่แล้วเอาเข้ากกให้ตัวแห้ง ในช่วงเวลา 1 - 3 วันแรก ควรใช้กระติกน้ำสำหรับลูกไก่ เพื่อความมั่นใจว่าลูกไก่ได้ดื่มน้ำอย่างเพียงพอ และช่วยประหยัดสารที่เติมในน้ำ ลูกไก่ควรได้ดื่มน้ำอย่างเต็มที่และทั่วถึงก่อนกินอาหาร ถ้าลูกไก่มีอาการร่าเริง แข็งแรง วิ่งเล่น และจิกพื้น ก็สามารถให้อาหารได้เลย แต่ถ้าลูกไก่ยังดูอ่อนเพลีย เหงา ซึม และไม่ร่าเริง ให้ต้อนลูกไก่เข้ากก ตรวจสอบและปรับค่าอุณหภูมิกกให้สูงขึ้นถึง 34 - 35 °C (ให้พิจารณาสภาวะอากาศในท้องถิ่นร่วมด้วย) และพยายามให้ลูกไก่ได้ดื่มน้ำให้มากขึ้น ส่วนการให้อาหารให้รอไว้ก่อน ซึ่งอาจต้องรอ 3 - 4 ชั่วโมง หรือรอจนกว่าสภาพลูกไก่จะดีขึ้น สิ่งสำคัญ ควรให้ลูกไก่ส่วนใหญ่ได้เริ่มกินอาหารพร้อมกัน เพราะจะมีผลต่อการเจริญเติบโตอย่างสม่ำเสมอ (ไก่ไม่แตกไสซ์) การให้อาหารลูกไก่ครั้งแรก ควรให้ครั้งละน้อยๆ ด้วยวิธีโปรยอาหารลงในถาดอาหารลูกไก่ อาจใช้กล่องลูกไก่ตัดขอบออกเพื่อใช้ทำเป็นถาดอาหาร หรือโปรยอาหารลงบนกระดาษปูพื้น เพื่อให้ลูกไก่เดินคุ้ยเขี่ยจิกอาหารกิน เมื่อลูกไก่อายุ 3 - 4 วัน จึงเริ่มให้อาหารจากถาดของเครื่องให้อาหาร อาจเริ่มด้วยวิธีตักอาหารมาเทใส่ถาดของเครื่องให้อาหารเพื่อสอนให้ลูกไก่ได้รับรู้ถึงที่กินอาหารใหม่ เมื่อลูกไก่คุ้นชินแล้วค่อยเดินเครื่องให้อาหาร หลังจากนั้นจึงฝึกให้ลูกไก่ดื่มน้ำจากจุ๊บน้ำ (Nipple) โดยให้คอยสังเกตดูลูกไก่ ถ้าตัวไหนดื่มน้ำไม่ได้ก็ต้องช่วยสอนให้ลูกไก่จิกหัวจุ๊ปน้ำ การปรับระดับความสูงของถาดอาหารและจุ๊บน้ำตามการเจริญเติบโต มีความสำคัญมากต่อการฝึกนิสัยไก่ ระดับถาดอาหารที่ถูกต้องควรอยู่ที่ระดับหลังไก่ และระดับจุ๊บน้ำที่ถูกต้องให้ดูที่ท่ายืนขณะจิกหัวจุ๊บน้ำ ควรอยู่ในท่าที่ทำมุม 45° กับระดับพื้น

 

10. การให้แสงสว่าง แสงสว่างที่คนมองเห็น (Visible Light) หรือแสงแดด (Day Light) เป็นส่วนหนึ่งของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า มีความยาวคลื่นประมาณ 400 - 700 นาโนเมตร แสงสว่างสามารถเข้าสู่การรับรู้หรือเป็นสิ่งเร้าได้ 2 ทางคือ ผ่านเข้าทางตาไปกระตุ้นประสาทสัมผัสที่จอภาพ (Retinal Receptors) และผ่านกระโหลกศีรษะเข้าไปกระตุ้นที่ Pineal Gland และ Hypothalamus โดยตรง ผลที่เกิดจากแสงสว่างแบ่งเป็น 3 ด้าน คือ 1) สีของแสงสว่าง (Electromagnetic Spectrum หรือ Light Colors) มีผลต่อพฤติกรรมของไก่ เช่น แสงสีน้ำเงิน (Blue Light) ช่วยลดอาการตื่นเต้นหรือทำให้ไก่มีอาการสงบลง แสงสีน้ำเงิน-เขียว (Blue-Green Light) ช่วยกระตุ้นการกินอาหารและการเจริญเติบโต แสงสีแดง (Red Light) ช่วยลดการจิกขน (Cannibalism) และแสงสีส้ม-แดง (Orange-Red Light) ช่วยกระตุ้นระบบสืบพันธุ์ (Reproductive System) เป็นต้น และไก่เป็นสัตว์ที่มองเห็นแถบสี (Spectrum) ได้กว้างกว่าคน เช่น สามารถมองเห็นแสงสีม่วง (Utraviolet) ได้ในขณะที่คนมองไม่เห็น 2) ความเข้มแสงสว่าง (Light Intensities หรือ Brightness) มีผลโดยตรงต่อการมองเห็นหรือการรับรู้แสงสว่างของไก่ และไก่เป็นสัตว์ที่มองเห็นในที่มืดได้ดีกว่าคน 3) ช่วงเวลาแสงสว่าง (Light Duration หรือ Dawn and Dark) มีความสำคัญต่อจังหวะวงจรชีวิต (Circadian Rhythm) เช่น การกิน การนอน และการหลั่งฮอร์โมน ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อการดำรงชีวิต การเจริญเติบโต ภูมิคุ้มโรค อารมณ์ และความสมบูรณ์เพศ การเลี้ยงไก่เนื้อเชิงอุตสาหกรรม ใช้เวลาการเลี้ยงสั้นประมาณ 35 - 49 วัน ขึ้นอยู่กับเป้าหมายการผลิต โดยทั่วไป โรงเรือนอีแว๊ปจะมืดมาก จึงนิยมทำช่องแสงยาวตลอดด้านข้างโรงเรือนเพื่อช่วยเพิ่มแสงสว่างในเวลากลางวัน อย่างไรก็ตาม โรงเรือนที่กว้างมากความเข้มแสงที่แนวกลางโรงเรือนอาจไม่เพียงพอจึงต้องให้ แสงสว่างช่วย (Artificial Light) ในทางปฏิบัติ ควรใช้เครื่องวัดความเข้มแสง (Light Meter หรือ Lux Meter) ช่วยในการคำนวณออกแบบไฟฟ้าแสงสว่าง เพื่อให้ความเข้มแสงในโรงเรือนมีความสม่ำเสมอและเพียงพอ อนึ่ง จากเอกสารการทดลองเกี่ยวกับการใช้แสงสว่างเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไก่เนื้อหลายฉบับ พอสรุปได้ว่า การควบคุม ช่วงเวลาแสงสว่าง (Light Duration) ด้วยแสงธรรมชาติ (Day Light) จะให้ผลดีที่สุดต่อประสิทธิภาพการผลิตไก่เนื้อ แม้ว่าสีของแสงสว่าง (Spectrum หรือ Light Colors) จะส่งผลต่อการกินอาหารของไก่ แต่การใช้งานจริงต้องใช้แสงสีเดียว (Monochrome) เป็นการเฉพาะซึ่งมีความยุ่งยากและให้ผลไม่ต่างกันมากนัก จึงอาจไม่คุ้มค่าในการใช้งาน

 

คำแนะนำทั่วไปสำหรับการให้แสงสว่างเพื่อการเลี้ยงไก่เนื้อ มีดังนี้

ในช่วงอายุ 7 วันแรก ควรให้แสงสว่าง 23 ชั่วโมง/วัน ที่ความเข้มแสง 20 - 40 ลักซ์ หลังจากนั้น ให้ลดความเข้มแสงลงเหลือประมาณ 10 - 20 ลักซ์ และให้แสงสว่าง 17 - 20 ชั่วโมง/วัน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับอายุไก่ที่จับส่งตลาดด้วย เช่น ถ้าจับไก่ส่งตลาดที่อายุน้อย (32 - 35 วัน) ควรให้แสงสว่างแบบคงที่ ตั้งแต่อายุ 8 วันถึงปลดไก่ โดยให้แสงสว่าง 20 ชั่วโมง/วัน และถ้าจับไก่ส่งตลาดที่อายุมาก (40 - 49 วัน) สามารถทำได้ 2 วิธีคือ 1) ให้แสงสว่างแบบคงที่ ตั้งแต่อายุ 8 วันถึงปลดไก่ โดยให้แสงสว่าง 17 ชั่วโมง/วัน หรือ 2) ให้แสงสว่างแบบอัตราลด ตั้งแต่ไก่อายุ 8 - 32 วัน ให้แสงสว่าง 20 ชั่วโมง/วัน และหลังจากนั้นให้ลดเวลาแสงสว่างลง 1 ชั่วโมง ทุกๆ 4 - 5 วัน โดยให้ช่วง 4 - 5 วันสุดท้ายก่อนปลดไก่ มีแสงสว่างไม่น้อยกว่า 17 ชั่วโมง/วัน ซึ่งจะช่วยลดความเสียหายในฝูงไก่ได้ดีกว่าการให้แสงสว่างคงที่ 17 ชั่วโมง/วัน และประหยัดค่ากระแสไฟฟ้ามากว่าการให้แสงสว่างคงที่ 20 ชั่วโมง/วัน ทั้งนี้ ไม่ควรให้แสงสว่างน้อยกว่า 14 ชั่วโมง/วัน เพราะจะไม่ช่วยช่วยเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตและอัตราการกินอาหารของไก่

 

11. การจัดการดูแลฝูงไก่เนื้อ โดยทั่วไป ไก่ควรได้รับวัคซีนอย่างถูกต้องเหมาะสมสำหรับการเลี้ยงไก่ในแต่ละท้องถิ่นตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ หมั่นตรวจดูอาการและพฤติกรรมของไก่ เมื่อพบสิ่งผิดปกติให้รีบค้นหาสาเหตุและแก้ไขโดยเร็ว เช่น อัตราการดื่มน้ำควรประมาณ 2.5-3 เท่าของปริมาณอาหารที่บริโภค อัตราการเจริญเติบโตควรใกล้เคียงกับค่ามาตรฐานตามคำแนะนำของผู้ผลิตพันธุ์ไก่เนื้อ ไก่ควรมีหน้าตาแจ่มใส ไม่มีอาการหงอยซึม นอนหมอบ หรือหอบหายใจเป็นประจำ และมูลไก่ควรมีลักษณะปกติ การดูแลจัดการวัสดุรองพื้น ไม่ควรกลับหรือพลิกวัสดุรองพื้น เพราะต้องใช้แรงงานมากและไม่ช่วยให้สภาพพื้นดีขึ้น ทั้งยังเป็นการรบกวนไก่ และอาจทำให้เกิดกลิ่นแอมโมเนีย หรือกลิ่นแก๊สไข่เน่ามากขึ้น กรณีวัสดุรองพื้นเริ่มชื้นหรือมีลักษณะไม่ดี ให้เติมวัสดุรองพื้นใหม่ทับลงไปอย่างเพียงพอ แต่ถ้าพื้นแฉะมากหรือแข็งเป็นแผ่น ควรตักส่วนที่เสียออกแล้วเติมวัสดุรองพื้นใหม่ให้เต็มพื้นที่ ปัญหาพื้นชื้นแฉะส่วนใหญ่มาจากระบบให้น้ำไก่ (จุ๊ปน้ำ) ที่เกิดการรั่วซึม จึงควรหมั่นตรวจดูความเรียบร้อยของอุปกรณ์เป็นประจำและรีบแก้ไขทันทีที่พบเห็นปัญหา

 

12. PI score เป็นข้อมูลสำคัญ ใช้ในการประเมินและเปรียบเทียบประสิทธิภาพการเลี้ยงไก่เนื้อ ทั้งนี้ การพัฒนาการเลี้ยงไก่ให้ดีขึ้นต่อไป การหาค่า Performance Index (PI หรือ PI score) ใช้สูตรในการคำนวณ ดังนี้

 

                  PI Score = น้ำหนักไก่เฉลี่ย x % การเลี้ยงรอด x 100 ÷ จำนวนวันที่เลี้ยง x FCR

 

ข้อสังเกต ควรเปรียบเทียบค่า PI Score ในการเลี้ยงไก่ขนาดเดียวกัน (ค่ายิ่งมากยิ่งดี) และการเลี้ยงไก่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น จะทำให้ PI Score มีค่าลดลง ดังนั้น จึงควรพิจารณาความคุ้มค่าในการผลิตร่วมด้วย

 

อ่านตอนแรกได้ที่ ---->  เทคนิคการเลี้ยงไก่เนื้อระดับอุตสาหกรรม ตอนที่ 1

 ไก่เนื้อ
Visitors: 155,817