เทคนิคการเลี้ยงไก่เนื้อระดับอุตสาหกรรม (ตอนแรก)
เทคนิคการเลี้ยงไก่เนื้อระดับอุตสาหกรรม (ตอนแรก) |
การเลี้ยงไก่เนื้อระดับอุตสาหกรรม เป็นงานด้านสัตวบาล ที่ต้องมีการจัดการอย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อให้ไก่มีสุขภาพดี สมบูรณ์ แข็งแรง และมีสถานะปลอดโรคอยู่เสมอ เพื่อให้มีประสิทธิภาพการผลิตสูง ได้ผลิตผลที่ดี มีความปลอดภัยต่อการบริโภค มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีความคุ้มค่าต่อการลงทุน ปัจจัยขั้นพื้นฐานในการเลี้ยงไก่เนื้อระดับอุตสาหกรรม มีดังนี้ 1. พันธุ์ไก่ โดยทั่วไปนิยมใช้พันธุ์ไก่ลูกผสมหรือพันธุ์ไก่ทางการค้า ซึ่งมีการปรับปรุงพันธุ์มาโดยเฉพาะ ส่วนใหญ่เป็นไก่ขนสีขาว หนังและแข้งสีเหลือง มีอัตราการเจริญเติบโตสูง อัตราอาหารแลกเนื้อต่ำ ใช้เวลาการเลี้ยงสั้นและคุ้มค่าในการผลิต แต่ต้องมีการดูแลจัดการอย่างถูกต้องตามคำแนะนำของผู้ผลิตพันธุ์ไก่ 2. อาหารไก่เนื้อ ควรใช้อาหารที่เหมาะสมกับพันธุ์ไก่จึงจะทำให้ประสิทธิภาพการผลิตสูงและคุ้มค่าต่อการลงทุน เพราะไก่แต่ละพันธุ์มีการตอบสนองต่ออาหารไม่เหมือนกัน นอกจากนั้น ควรใช้อาหารที่ใหม่และสดอยู่เสมอ ไม่มีกลิ่นผิดปกติ ไม่ผสมยาและ/หรือสารต้องห้าม 3. ฟาร์มไก่เนื้อ ควรมีขนาดที่เหมาะสม น้ำท่วมไม่ถึง มีทางคมนาคมสะดวกสามารถใช้ได้ทุกฤดูกาล มีระบบไฟฟ้าและแหล่งน้ำคุณภาพดี อยู่ห่างจากชุมชน วัด โรงเรียน ตลาดค้าสัตว์มีชีวิต และโรงฆ่าสัตว์ ตามมาตรฐานฟาร์มของกรมปศุสัตว์ ควรแบ่งแยกเขตเลี้ยงไก่ออกจากพื้นที่ใช้ประโยชน์อื่นอย่างชัดเจนด้วยการกั้นรั้วอย่างเหมาะสม โรงเรือนควรอยู่ในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก เพื่อไม่ให้แสงแดดส่องด้านข้างโรงเรือนมากเกินไป มีระยะห่างกันตามมาตรฐานฟาร์ม รั้วและประตูฟาร์มต้องสามารถป้องกันสัตว์อื่นได้ มีห้องอาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าสำหรับบุคคล มีระบบฆ่าเชื้อยานพาหนะ อุปกรณ์และเครื่องมือ ที่ต้องการนำเข้าไปในเขตเลี้ยงไก่ 4. โรงเรือนอีแว๊ปไก่เนื้อ ควรออกแบบและก่อสร้างอย่างถูกต้องเหมาะสมกับสภาวะอากาศในท้องถิ่น เช่น ในท้องถิ่นภูมิอากาศร้อนชื้นและผลิตไก่เนื้อขนาดเฉลี่ย 2.50 กก. ควรใช้ความหนาแน่นในการเลี้ยงไก่ 28 กก./ตร.ม. ความเร็วลมในโรงเรือนเฉลี่ยไม่น้อยกว่า 2.7 m/s (540 ft/min) และมีอัตราการถ่ายเทอากาศ (Air Change) ไม่น้อยกว่า 90 - 100 เท่าของปริมาตรโรงเรือนต่อชั่วโมง 5. เครื่องควบคุมสภาวะอากาศในโรงเรือน ควรใช้แบบ Microprocessor ที่ทำงานเป็นปัจจุบัน (Real Time) สามารถควบคุมการทำงานของพัดลมและปั๊มน้ำได้ตามค่า อุณหภูมิ ความชื้น และ Heat Stress Index (HSI) ทั้งนี้ ไม่ควรใช้อุปกรณ์ตั้งเวลา (Timer) ควบคุมการเปิด-ปิดปั๊มน้ำ เพราะไม่มีความแม่นยำ และมักทำให้อุณหภูมิในโรงเรือนแกว่งตัวสูง (มีค่าอุณหภูมิสูง-ต่ำ ต่างกันมาก) และอาจทำให้ความชื้นในโรงเรือนสูงมากเกินไป (หรือค่า HSI สูงเกิน 167) ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อไก่ถึงตายได้ 6. หลักการควบคุมอุณหภูมิในโรงเรือนอีแว๊ป โดยทั่วไป อุณหภูมิสำหรับลูกไก่อายุ 1 - 21 วัน มีความสำคัญต่อ การสร้างภูมิคุ้มโรค การเจริญเติบโต และระบบฮอร์โมนของไก่อย่างมาก จึงควรควบคุมอุณหภูมิอย่างเข้มงวด ดังนี้ ลูกไก่อายุ 1 วัน ควรควบคุมอุณหภูมิที่ 32 - 34 °C จากนั้นให้ลดอุณหภูมิกกลงทุก 5 วัน ครั้งละ 1 °C เมื่อไก่มีอายุครบ 21 วัน อุณหภูมิควรอยู่ในเกณฑ์ สภาวะเหมาะสม (Comfortable Zone) คือ 18 - 25 °C สำหรับท้องถิ่นภูมิอากาศแบบร้อนชื้น เช่น ประเทศไทย อาจควบคุมอุณหภูมิระดับนี้ไม่ได้ ดังนั้น จึงแนะนำให้ตั้งค่าอุณหภูมิสูงสุดเพื่อเปิดพัดลมและระบบปั๊มน้ำที่ 28 °C และตั้งค่าความชื้นสูงสุดเพื่อปิดปั๊มน้ำที่ 80 - 85 %RH และให้ปั๊มน้ำเปิดทำงานอีกครั้งเมื่อค่าความชื้นลดลง 5 %RH ทั้งนี้ ความเร็วลมเฉลี่ยในโรงเรือนอีแว๊ปต้องไม่น้อยกว่า 2.7 m/s หรือควรควบคุมสภาวะอากาศในโรงเรือนอีแว๊ปไว้ไม่เกิน 30 °C และค่า Heat Stress Index (HSI) ไม่เกิน 167 ซึ่งสามารถทำได้ ถ้ามีการคำนวณออกแบบและก่อสร้างโรงเรือนอีแว๊ปอย่างถูกต้อง 7. การกกลูกไก่ โดยทั่วไป ลูกไก่อายุ 7 วันแรก ต้องการพื้นที่เพียง 1 ใน 3 ส่วนของพื้นที่เลี้ยงไก่ทั้งหมดเท่านั้น จึงแนะนำให้ใช้พื้นที่กกเท่าที่จำเป็นเพื่อประหยัดพลังงานและแรงงาน ควรใช้พื้นที่บริเวณด้านท้ายโรงเรือน (ด้านที่ติดตั้งพัดลม) เพราะจะช่วยให้อากาศเสียถูกระบายออกจากโรงเรือนได้เร็วขึ้น และยังช่วยให้การจัดการในฤดูหนาวได้ดีกว่า ด้วยวิธีเปิด-ปิดพัดลมแบบจังหวะเวลา (Pulsation) โดยคำนวณเวลาเปิดพัดลมให้ได้ปริมาณลมประมาณ 1/3 - 1/2 ของปริมาตรโรงเรือนต่อครั้ง ซึ่งจะทำให้อากาศหนาวเย็นที่ไหลเข้ามาในโรงเรือนหยุดอยู่ในพื้นที่ว่างก่อนถึงพื้นที่กกลูกไก่ และอากาศที่รออยู่จะอุ่นขึ้นก่อนที่จะไหลเข้าไปถึงพื้นที่กกลูกไก่ นอกจากนั้น ไม่ควรกกลูกไก่หนาแน่นมากเกินไป และควรค่อยๆขยายพื้นเลี้ยงไก่ออกไปจนเต็มพื้นที่ ทั้งนี้ ควรควบคุมอุณหภูมิในโรงเรือนอย่างเหมาะสมด้วย
|
อ่านต่อตอนต่อไปที่ ----> เทคนิคการเลี้ยงไก่เนื้อระดับอุตสาหกรรม ตอนที่ 2 |