น้ำ : ปัจจัยสำคัญของโรงเรือนอีแว๊ป

 

 

น้ำ : ปัจจัยสำคัญของโรงเรือนอีแว๊ป

(Water: The Important Factor for Evaporative Cooling House)

 
 

Evaporative Cooling House หรือนิยมเรียกสั้นๆว่า “โรงเรือนอีแว๊ป” เป็นโรงเรือนแบบปิด ใช้ระบบการระบายอากาศร่วมกับการทำความเย็นด้วยการระเหยน้ำ โดยนำเอาหลักการระบายอากาศแบบอุโมงค์ลม (Tunnel Ventilation) การทำความเย็นด้วยการระเหยน้ำ (Evaporative Cooling) ปฏิกิริยาความเย็นจากลม (Effective Temperature หรือ Wind Chill Effect) และหลักวิชาสัตวบาล (Animal Husbandry) หรือสัตวศาสตร์ (Animal Science) มาใช้ร่วมกันอย่างเหมาะสม เพื่อปรับปรุงสภาวะอากาศในโรงเรือนให้สัตว์อยู่อาศัยได้อย่างสุขสบายมากกว่าสภาวะอากาศตามธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้สัตว์มีสุขภาพดี มีประสิทธิภาพในการผลิตสูง และให้ผลิตผลที่มีคุณภาพดี

 

การทำความเย็นด้วยการระเหยน้ำ เป็นไปตามการเปลี่ยนแปลงพลังงานความร้อนในอากาศในรูปของ ความร้อนแฝง (Latent Heat) ซึ่งเป็น พลังงานความร้อนที่ทำให้สสารเปลี่ยนสถานะโดยที่อุณหภูมิของสสารไม่เปลี่ยนแปลง กล่าวคือ เมื่อน้ำเปลี่ยนสถานะจากของเหลวไปเป็นไอน้ำ (Evaporation) มันจะดูดซับความร้อนแฝงจากอากาศไป 540 แคลลอรีต่อการระเหยน้ำ 1 กรัม เมื่อพลังงานความร้อนในอากาศบริเวณนั้นลดลง อุณหภูมิอากาศก็จะลดลงด้วย ในทางกลับกัน ถ้าอากาศมีความชื้นสูงมาก จะกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ (Condensation) มันจะคายความร้อนแฝงออกมาในอัตราเดียวกัน ทำให้อุณหภูมิอากาศบริเวณนั้นสูงขึ้น

 

โรงเรือนระบบอีแว้ป

 

อนึ่ง อุณหภูมิ (Temperature) ก็คือการวัดความร้อนที่เป็นพลังงานจลน์ (Kinetic Energy) ในสสารโดยใช้ เครื่องวัดอุณหภูมิ (Thermometer) ซึ่งมีลักษณะเป็นหลอดแก้วสุญญากาศขนาดเล็ก (Vacuum Capillary Tube) ภายในบรรจุปรอท (Liquid Mercury) บนหลอดแก้วจะมีขีดกำหนดค่าอุณหภูมิ ที่นิยมใช้กันทั่วไปได้แก่ Celsius Scale (°C) และ Fahrenheit Scale (°F) ซึ่งมีข้อกำหนด ดังนี้ น้ำบริสุทธิ์ที่ความกดดัน 1 บรรยากาศ หรือที่ระดับน้ำทะเลมาตรฐาน จุดเยือกแข็งของน้ำ(Freezing Point) หรืออุณหภูมิที่น้ำเปลี่ยนสถานะจากของเหลวไปเป็นของแข็ง (น้ำแข็ง) มีค่า 0°C หรือ 32 °F และ จุดเดือดของน้ำ (Boiling Point) หรืออุณหภูมิที่น้ำเปลี่ยนสถานะจากของเหลวไปเป็นก๊าซ (ไอน้ำ) มีค่า 100°C หรือ 212 °F ระหว่างจุดเยือกแข็งถึงจุดเดือด แบ่งเป็นขีดย่อย (Scales) โดย  Celsius Scale (°C) แบ่งเป็น 100 ขีด และ Fahrenheit Scale (°F) แบ่งเป็น 180  ขีด แต่ละขีดจะมีค่าต่างกัน 1° (C หรือ F แล้วแต่กรณี)

ตามธรรมชาติ เมื่อน้ำระเหยไป สารละลายในน้ำยังคงอยู่เท่าเดิม ดังนั้น ความเข้มข้นของสารละลายในน้ำจะสูงขึ้น และการใช้งานโรงเรือนอีแว๊ปโดยทั่วไป มักนำน้ำที่เหลือใช้จากรอบที่แล้วหมุนวนกลับมาใช้ใหม่ หมายความว่า แม้น้ำเมื่อเริ่มต้นใช้งานจะมีคุณภาพดี แต่เมื่อนำน้ำหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่หลายรอบ น้ำนั้นก็จะมีคุณภาพเลวลงไปเรื่อยๆจนถึงขั้นที่เป็นอันตราย ซึ่งจะทำให้อุปกรณ์โดยเฉพาะ แผ่นทำความเย็น (Cooling Pad) เสียหายได้ อย่างไรก็ตาม น้ำตามธรรมชาติมักมีสิ่งเจือปนอยู่มากมาย ทั้งสิ่งที่มองเห็นและมองไม่เห็น อัตราส่วนของสิ่งเจือปนเหล่านี้ย่อมทำให้น้ำมีคุณภาพต่างกันไป น้ำที่เหมาะสมกับการใช้งานในโรงเรือนอีแว๊ป ควรเป็นน้ำสะอาด ปราศจากตะกอน มีค่า pH 6 - 8  มีค่าความกระด้างรวม (Total Hardness) ไม่เกิน 100 - 150 ppm และสภาพด่างรวม (Total Alkalinity) ไม่เกิน 60 - 100 ppm แม้ว่าน้ำที่ใช้จะมีคุณภาพดี แต่ก็ยังต้องมีการจัดการอย่างถูกต้อง เพื่อให้น้ำมีคุณภาพดีอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะส่งผลต่อประสิทธิภาพและอายุการใช้งานของโรงเรือนอีแว๊ปโดยตรง

 

 ตารางคุณภาพน้ำ

 

ปัญหาที่เกิดจากการจัดการน้ำสำหรับโรงเรือนอีแว๊ปไม่ถูกต้อง แบ่งเป็น 2 ด้าน ดังนี้

1.    ปัญหาทางด้านเคมี (Chemical Problems) ได้แก่

1.1  การเกิดตะกรัน (Scale Forming) มักเกิดจากการใช้น้ำกระด้างสูง อย่างไรก็ตาม น้ำตามธรรมชาติมักมีความกระด้างอยู่แล้ว เนื่องจาก ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่ละลายเจือปนอยู่ในน้ำ ทำให้น้ำมีฤทธิ์เป็นกรดอ่อนและเข้าทำปฏิกิริยากับหินปูนซึ่งมีอยู่ทั่วไปในธรรมชาติได้ แคลเซียมไบคาร์บอนเนต ทำให้เกิดเป็นน้ำกระด้างชั่วคราว แคลเซียมไบคาร์บอนเนต เป็นสารประกอบที่ไม่คงตัว สามารถเปลี่ยนไปเป็น แคลเซียมคาร์บอนเนตหรือหินปูน ที่ทำให้เกิดเป็นน้ำกระด้างถาวรได้ เมื่อมีสถานการณ์บางอย่างมาสนับสนุน เช่น สารละลายนี้มีความเข้มข้นสูงขึ้น น้ำมีค่า pH สูงขึ้น น้ำมีอุณหภูมิสูงขึ้น หรือน้ำมีความกดดันสูงขึ้น (ส่วนใหญ่เกิดจากการใช้ปั๊มน้ำ) น้ำที่มีสารละลาย แคลเซียมคาร์บอนเนต และมีค่า pH ตั้งแต่ 7.5 ขึ้นไป อาจก่อให้เกิดตะกรันหินปูนได้เสมอ ซึ่ง อุปกรณ์ เครื่องมือ และเครื่องใช้ ที่ถูกหินปูนจับเกาะจะเกิดการชำรุดเสียหายจนอาจถึงขั้นใช้การไม่ได้ แผ่นทำความเย็น (Cooling Pad) เป็นอุปกรณ์สำคัญที่ช่วยให้เกิดการระเหยน้ำ ถ้าถูกหินปูนจับเกาะจะทำให้ประสิทธิภาพในการดูดซับน้ำและการระเหยน้ำลดลง นอกจากนั้น หินปูนจะทำให้ช่องอากาศ (Flute) ของแผ่นทำความเย็น เล็กลงหรือเกิดการอุดตัน ทำให้ค่าความกดดันลด (Pressure Drop) ของแผ่นทำความเย็นสูงขึ้น ทำให้ประสิทธิภาพการทำความเย็น (Cooling Efficiency) และอัตราการระบายอากาศของโรงเรือนอีแว๊ปลดลง ส่งผลให้ประสิทธิภาพของโรงเรือนอีแว๊ปโดยรวมลดลง และย่อมกระทบต่อการเลี้ยงสัตว์อย่างแน่นอน

 

อนึ่ง น้ำกระด้าง หมายถึง น้ำที่ทำปฏิกิริยากับสบู่แล้วเกิดฟองน้อยหรือไม่เกิดฟอง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ ความกระด้างของน้ำ กล่าวคือ น้ำที่ทำปฏิกิริยากับสบู่แล้วเกิดฟองยิ่งน้อยแสดงว่าน้ำนั้นยิ่งมีความกระด้างมาก เพราะเมื่อน้ำกระด้างทำปฏิกิริยากับสบู่แล้วจะได้ Calcium Stearate ซึ่งไม่ละลายน้ำและไม่ทำให้เกิดฟอง

1.2  สภาพด่าง (Alkalinity) หมายถึง ความสามารถของสารละลายที่ทำให้สภาพกรดเป็นกลาง ซึ่งสามารถหาค่าสภาพด่างได้จากการ Titrate กับสารละลายกรดมาตรฐานที่ทราบค่าความเข้มข้น ดังนั้น น้ำที่มีค่า pH เท่ากัน อาจมีค่าสภาพด่างต่างกันก็ได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิและสารละลายในน้ำ สารประกอบที่ทำให้น้ำเกิดสภาพด่าง ได้แก่ ไบคาร์บอนเนต (Bicarbonate Alkalinity, HCO3¯ )  มีค่า pH 4.5 - 8.5 จะมีสภาพเป็นทั้งสภาพกรดและสภาพด่างไปพร้อมกัน คาร์บอนเนต (Carbonate Alkalinity, CO32¯ ) มีค่า pH ระหว่าง 8.5 - 9.5 ถือว่ามีสภาพด่างค่อนข้างสูง และไฮดรอกไซด์ (Hydroxide Alkalinity, OH¯ ) มีค่า pH ตั้งแต่ 11 ขึ้นไป ถือว่ามีสภาพด่างสูงมาก น้ำที่มีสภาพด่างสูงถึงสูงมาก สามารถทำลาย Resin และ Lignin ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของเยื่อกระดาษที่ใช้ทำแผ่นทำความเย็นได้ ทำให้คุณภาพของกระดาษเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว ความแข็งแรงของกระดาษจะลดลง เมื่อกระดาษดูดซับน้ำจะทำให้ไม่สามารถรองรับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นได้ เกิดการพับงอและทรุดตัวลง หรืออาจเกิดการเปื่อยยุ่ยและเน่าสลายได้ง่าย

 ตารางคุณภาพน้ำ

ความสัมพันธ์ของค่า pH และอัตราการละลายน้ำของสารประกอบที่ทำให้เกิดสภาพด่าง

1.3  การกัดกร่อน (Corrosion) เกิดจากปฏิกิริยาเคมีไฟฟ้า (Electrochemical Reaction) ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติ เพราะเมื่อน้ำแตกตัวจะได้ Hydrogen ion (H+) และ Hydroxyl ion (OH¯ ) ซึ่งมีสถานะทางไฟฟ้า (Electrolyte) และจะเกิดขั้วไฟฟ้าขึ้นที่ผิวโลหะที่สัมผัสกับน้ำ Hydrogen ion จะไปจับที่ขั้วไฟฟ้าลบ (Anode) ซึ่งเป็นขั้วที่รับประจุไฟฟ้าบวกหรือเสียประจุไฟฟ้าลบ (Electron) เรียกปฏิกิริยานี้ว่า Oxidation หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Anodic Reaction ซึ่งเป็นจุดที่เกิดการกัดกร่อน (Corrosion) เมื่อออกซิเจนเข้าทำปฏิกิริยาซ้ำ จะทำให้โลหะส่วนที่ถูกกัดกร่อนเปลี่ยนเป็นโลหะอ๊อกไซด์ (Metal Oxide) หรือสนิม นอกจากนั้น น้ำที่มีฤทธิ์เป็นกรด ยังสามารถทำให้กระดาษเปื่อยยุ่ยได้ โดยทั่วไป น้ำที่มีฤทธิ์เป็นกรด มักเกิดในแหล่งน้ำที่มีดินเปรี้ยว เช่น ที่ราบลุ่มปากแม่น้ำ ดินที่มีสารประกอบซึ่งมีฤทธิ์เป็นกรดสะสมอยู่ในปริมาณมาก เช่น เหล็กซัลไฟด์ และพื้นดินในเขตอุตสาหกรรมซึ่งมีมลภาวะสูง เช่น มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ในปริมาณสูง เมื่อฝนตกลงมา มันจะชะล้างและละลายเอาก๊าซเหล่านี้ลงมาด้วยทำให้น้ำในบริเวณนั้นมีฤทธิ์เป็นกรด น้ำที่มีฤทธิ์เป็นกรดจะมี Hydrogen ion จำนวนมากและมันจะเหนี่ยวนำทำให้สารแขวนลอยในน้ำเกิดการรวมตัวและตกตะกอน ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้ ดังนี้ น้ำที่มีฤทธิ์เป็นกรด จะไม่มีตะกอนแขวนลอยในน้ำและน้ำจะมีสีฟ้าใส

 

โดยทั่วไป น้ำที่ไหลผ่าน แผ่นทำความเย็น (Cooling Pad) ไปแล้ว จะมีความเข้มข้นของสารละลายสูงขึ้น อันเนื่องมาจากการระเหยน้ำนั่นเอง การรักษาระดับความเข้มข้นของสารละลายในน้ำ การป้องกันความเสียหายด้านเคมีดังกล่าวมาแล้วนั้น ก็คือการรักษาระดับความเข้มข้นของสารละลายในน้ำไม่ให้สูงเกินไป ซึ่งสามารถทำได้ด้วยวิธี ถ่ายน้ำทิ้ง (Bleed-Off) กล่าวคือ การทิ้งน้ำจากท่อน้ำที่ไหลผ่าน แผ่นทำความเย็น (Cooling Pad) และก่อนที่น้ำจะไหลกลับลงสู่ถังพักน้ำ โดยการติดตั้งท่อน้ำพร้อมประตูน้ำเพื่อแยกเอาน้ำทิ้งไปบางส่วน ก็จะทำให้ถังพักน้ำมีที่เหลือมากขึ้น จึงสามารถเติมน้ำใหม่ลงในถังพักน้ำได้มากขึ้น และน้ำที่เติมลงไปใหม่นี้จะเข้าไปผสมและช่วยทำให้ความเข้มข้นของสารละลายในน้ำให้เจือจางลง ดังนั้น น้ำที่จะไหลผ่าน แผ่นทำความเย็น (Cooling Pad) ในรอบต่อไปจึงมีความเข้มข้นของสารละลายไม่สูงมากจนเกินไป การถ่ายน้ำทิ้ง (Bleed-Off) เป็นวิธีการที่มีค่าใช้จ่ายต่ำที่สุดเพราะไม่ต้องใช้เครื่องมือและสารเคมี และช่วยลดโอกาสการเกิดความเสียหายจากสารเคมีที่เจือปนอยู่ในน้ำได้ดี ทำให้ แผ่นทำความเย็น (Cooling Pad) มีอายุการใช้งานยาวนานมากขึ้น นอกจากนั้น การทิ้งน้ำจากบริเวณที่น้ำมีความเข้มข้นสูง (หลังผ่านการระเหยน้ำ) จะประหยัดการใช้น้ำมากกว่า การถ่ายน้ำทิ้งจากบริเวณอื่น เช่น การถ่ายน้ำทิ้งจากถังพักน้ำ หรือการถ่ายน้ำทิ้งจากท่อส่งน้ำไปยัง แผ่นทำความเย็น (Cooling Pad) ซึ่งเป็นน้ำที่มีการผสมน้ำใหม่แล้ว หรือเป็นน้ำที่มีความเจือจางของสาละลายแล้ว

การติดตั้งท่อน้ำและถังพักน้ำสำหรับ Cooling Pad

การติดตั้งท่อน้ำและถังพักน้ำสำหรับ Cooling Pad

การติดตั้งท่อน้ำและถังพักน้ำสำหรับ Cooling Pad

 

2. ปัญหาทางด้านจุลินทรีย์ (Biological Problem) โดยทั่วไป จุลินทรีย์ที่ก่อปัญหามักมีอยู่แล้วตามธรรมชาติ เมื่อสภาวะเหมาะสมมันจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น แบคทีเรีย (Bacteria) และเชื้อรา (Mold) บางชนิด เมื่ออุณหภูมิและความชื้นเหมาะสมมันเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ได้ดี ขณะที่จุลินทรีย์เจริญเติบโตมันจะสร้างน้ำย่อยออกมาย่อยและดูดซึมเอาสารอาหารในบริเวณที่มันอยู่อาศัยไปใช้ในการเจริญเติบโตของมัน โดยเฉพาะกระดาษ ซึ่งเป็นสารเยื่อใย (Cellulose) ที่จุลินทรีย์สามารถใช้เป็นอาหารได้อย่างดี ปัญหาเหล่านี้สามารถมองเห็นได้ด้วยสายตาก็คือ กระดาษจะเกิดการเน่าเปื่อย (Spoilage) สูญเสียความแข็งแรงและยุบตัวลง นอกจากนั้น การเจริญเติบโตของ ราเมือก (Slime Mold) ตะไคร่น้ำ (Lichen and Moss) และสาหร่าย (Algae) จะทำให้เกิดปัญหาท่อน้ำและถังพักน้ำสกปรก เกิดการอุดตัน และถ้าไปจับเกาะบนกระดาษของ แผ่นทำความเย็น (Cooling Pad) จะทำให้ประสิทธิภาพการดูดซับน้ำและระเหยน้ำลดลง อย่างไรก็ตาม จุลินทรีย์เป็นสิ่งมีชีวิตชั้นต่ำ ต้องอาศัยปัจจัยในการดำรงชีวิต เจริญเติบโต และขยายพันธุ์ ทั้ง 3 ประการร่วมกัน คือ อุณหภูมิ ความชื้น และอาหาร นอกจากนั้น จุลินทรีย์บางชนิดอาจต้องอาศัยแสงสว่างในการดำรงชีวิตร่วมด้วย เช่น ตะไคร่น้ำ และสาหร่าย เป็นต้น

 

การป้องกันปัญหาจากจุลินทรีย์ สามารถทำได้ง่ายๆโดยการควบคุมปัจจัยในการดำรงชีพและการเจริญเติบโต แม้เพียงประการเดียวก็สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของจุลินทรีย์ได้แล้ว ดังนั้น การป้องกันความเสียหายของกระดาษ แผ่นทำความเย็น (Cooling Pad) จึงแนะนำให้ควบคุมความชื้นบนกระดาษ โดยการปิดปั๊มน้ำและปล่อยให้กระดาษแห้งสนิทอย่างน้อย 2 - 3 ชั่วโมง/วัน และต้องทำอย่างต่อเนื่องทุกวัน เช่น ในช่วงเวลากลางคืนอากาศมักเย็นลงและมีความชื้นสูงขึ้น จึงไม่เหมาะสมกับการใช้การระเหยน้ำอยู่แล้ว ขณะเดียวกัน พัดลมที่ยังทำงานอยู่จะทำให้กระดาษแห้งสนิทได้เอง แต่ต้องมั่นใจว่าในช่วงเวลาดังกล่าว แผ่นทำความเย็น (Cooling Pad) จะไม่สามารถดูดซับความชื้นจากวัสดุที่มันสัมผัสอยู่ เช่น รางน้ำแบบคอนกรีต ซึ่งสามารถอมน้ำไว้ได้มากขณะที่ปั๊มน้ำทำงานและอาจยังมีความชื้นเหลืออยู่มากในช่วงเวลากลางคืน หรือน้ำที่ค้างอยู่ในท่อเกิดการรั่วไหลอยู่ตลอดเวลา ทำให้กระดาษไม่แห้งสนิทจริงๆ ส่วนการป้องกันจุลินทรีย์ชนิดที่อาศัยแสงสว่าง เช่น ตะไคร่น้ำ และสาหร่าย ให้ป้องกันแสงสว่างส่องผ่านเข้าไปในถังพักน้ำและท่อน้ำ เช่น ถังพักน้ำและท่อน้ำควรเป็นวัสดุทึบแสง และควรมีฝาปิดมิดชิดที่สามารถป้องกันแสงสว่างได้ เมื่อจุลินทรีย์เหล่านี้ขาดแสงสว่าง มันก็จะไม่สามารถเจริญเติบโตและดำรงชีพอยู่ได้ นอกจากนั้น การล้างทำความสะอาดท่อน้ำ ถังพักน้ำ และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องเป็นประจำ จะช่วยลดปริมาณจุลินทรีย์ให้เหลือน้อยลง และยังเป็นการช่วยบำรุงรักษาอุปกรณ์สำคัญเหล่านี้ให้มีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น

หลักการดูแลและบำรุงรักษาอุปกรณ์อีแว๊ป

1.    น้ำที่ใช้ในระบบอีแว๊ปควรมีค่า pH 6 - 8 และความกระด้างไม่เกิน 150 ppm กรณีที่น้ำมีความกระด้างสูงมาก ควรปรับปรุงคุณภาพน้ำก่อนนำมาใช้หรือจัดหาน้ำจากแหล่งใหม่

2.    ควรมีการถ่ายน้ำทิ้ง (Bleed-Off) อย่างถูกต้อง เพื่อช่วยลดการเกิดปัญหาตะกรันหินปูน และน้ำมีสภาพด่าง (Alkalinity) สูงเกินไป เพื่อช่วยยืดอายุการใช้งาน แผ่นทำความเย็น (Cooling Pad)

3.   ไม่ควรใช้สารเคมีที่มีฤทธิ์เป็น Oxidizing Agent เช่น สารประกอบ คลอรีน และ เปอร์อ๊อกไซด์ กับน้ำในระบบอีแว๊ป เพราะอาจทำให้ แผ่นทำความเย็น (Cooling Pad) และอุปกรณ์ที่เป็นโลหะเสียหายได้ กรณีต้องการใช้สารประกอบคลอรีนเพื่อการฆ่าเชื้อโรคในน้ำ ให้ใช้ได้ในอัตราที่มีค่าคลอรีนตกค้างออกฤทธิ์ (Residual Chlorine) ไม่เกิน 2 ppm

4.    ไม่ควรใช้สารประกอบทองแดง (Copper Compound) กับน้ำในระบบอีแว๊ป เพื่อการกำจัดเชื้อรา ตะไคร่น้ำ และสาหร่าย เพราะอาจทำให้ แผ่นทำความเย็น (Cooling Pad) และอุปกรณ์ที่เป็นโลหะ เช่น เหล็ก อลูมิเนียม และสแตนเลส ชำรุดเสียหายได้

5.    ควรมีอุปกรณ์ เช่น สะแลน หรือ มุ้งไนล่อน เพื่อป้องกัน ฝุ่นผง แมลง เศษไม้ ใบไม้ หรือดอกหญ้า ไม่ให้หลุดเข้าไปอุดตันช่องอากาศ (Flute) ของ แผ่นทำความเย็น (Cooling Pad) และควรติดตั้งห่างจากหน้า แผ่นทำความเย็น ประมาณ 1.00 เมตร

6.    ควรปิดปั๊มน้ำเพื่อให้ แผ่นทำความเย็น (Cooling Pad) แห้งสนิทไม่น้อยกว่า 2 - 3 ชั่วโมงต่อวันและควรทำอย่างต่อเนื่องทุกวัน เพื่อตัดวงจรชีวิตของจุลินทรีย์ไม่ให้มีโอกาสเจริญเติบโตถึงขั้นที่สามารถทำให้เกิดความเสียหายต่อ แผ่นทำความเย็น (Cooling Pad) ได้

7.    ควรล้างทำความสะอาด ส่วนต่างๆในระบบอีแว๊ปอย่างทั่วถึงเป็นประจำ ตามสภาพการใช้งาน เพื่อลดโอกาสการแพร่ขยายพันธุ์ของจุลินทรีย์ กรณีที่ต้องการใช้สารเคมีเพื่อฆ่าเชื้อโรคในระบบอีแว๊ป ควรใช้ Quaternary Ammonium Compound (QACs) ในอัตราความเข้มข้น 30 - 50 ppm

8.    ควรปิดบัง บ่อพักน้ำและท่อน้ำ ไม่ให้แสงสว่างส่องเข้าได้ เพื่อป้องกันการเกิดขึ้นของจุลินทรีย์ชนิดที่ต้องการแสงสว่าง เช่น สาหร่าย และตะไคร่น้ำ เป็นต้น

9.    ควรหลีกเลี่ยงหรือระมัดระวังไม่ให้ มูลสัตว์ สารประกอบอินทรีย์ ผงซักฟอก และสารประกอบฟอสเฟต สัมผัสกับ แผ่นทำความเย็น (Cooling Pad) ถ้าพบปัญหาดังกล่าวให้รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดทันที เพราะสารดังกล่าว อาจชักนำให้เกิดเชื้อรา แบคทีเรีย และตะไคร่น้ำ ซึ่งเป็นต้นเหตุที่ทำให้ แผ่นทำความเย็น (Cooling Pad) เกิดการเน่าเปื่อยและชำรุดเสียหายได้

 

 
 

 

Visitors: 155,818