โรงเรือนระบบ Evap. กับการเลี้ยงสัตว์ในเขตร้อนชื้น
โดย นายศิขัณฑ์ พงษพิพัฒน์
ภูมิอากาศแบบร้อน-ชื้น เป็นสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม (Comfortable Zone) ต่อสัตว์เลี้ยง ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ การกินอาหารลดลง และประสิทธิภาพในการผลิตเลวลง เช่น อัตราเจริญเติบโต ประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์จากอาหาร ระบบการสืบพันธุ์ และอาจก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างร้ายแรง ระดับอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงสัตว์ มีความแตกต่างกันไปตาม ชนิด ประเภท พันธุ์ อายุ ขนาดน้ำหนัก และวัตถุประสงค์ในการใช้ หรือผลิตสัตว์ โดยทั่วไป สัตว์ที่มีอายุมาก หรือมีขนาดใหญ่ มีความต้องการสภาพอากาศที่มีระดับอุณหภูมิต่ำกว่า สัตว์ที่มีอายุน้อย หรือขนาดที่เล็ก สัตว์ที่มีพันธุกรรมทางด้านการผลิตสูง และพ่อ-แม่พันธุ์ จะเกิดปัญหาความเครียดได้ง่าย เป็นต้น
ผลของความเครียดจากอากาศร้อน (Effects of Heat Stress)
ในสภาวะอากาศร้อน จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาในตัวสัตว์ อุณหภูมิของร่างกายจะสูงขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงระบบฮอร์โมนในร่างกายสัตว์ และทำให้สัตว์เกิดความเครียด เพื่อลดปัญหาดังกล่าว สัตว์จะต้องเพิ่มการระบายความร้อนออกจากร่างกาย โดยเร่งการระบายความร้อนออกทางผิวหนัง และเมื่ออากาศร้อนมากขึ้น จะเพิ่มการหายใจให้ถี่ขึ้น (panting) เพื่อให้อากาศไหลผ่านปอดมากขึ้น ภายในปอดจะมีการระเหยน้ำไปพร้อมกับการหายใจ (Evaporative Cooling) ทำให้อุณหภูมิภายในร่างกายลดต่ำลง สัตว์ที่ไม่มีต่อมเหงื่อ (Sweated Gland) เช่นสัตว์ปีก และสุกร อาจช่วยลดความร้อนให้สัตว์อย่างง่ายๆ โดยการพ่นละอองน้ำไปที่ผิวหนังสัตว์ เมื่อน้ำระเหยไป สัตว์จะรู้สึกเย็นสบาย เป็นการสร้างเหงื่อเทียมให้สัตว์ สิ่งที่สำคัญ ต้องมีกระแสลมช่วยพัดให้น้ำระเหยไปด้วย มิฉะนั้น จะทำให้สัตว์รู้สึกเครียดมากขึ้น เพราะความชื้นที่สูงขึ้น จะซ้ำเติม ทำให้การระบายความร้อนออกจากร่างกายได้ยากขึ้น
การกิน การย่อย และการดูดซึมอาหาร เป็นอีกกระบวนการหนึ่ง ที่ก่อให้เกิดความร้อนขึ้นในร่างกายสัตว์ (Heat Increment) เมื่อสภาวะอากาศร้อนมากขึ้น สัตว์จะลดการกินอาหารลดลง เพื่อลดปัญหาดังกล่าว แต่ จะทำให้เกิดปัญหาอื่นตามมา คือ การเจริญเติบโต หรือการให้ผลผลิต ลดลง
การประเมินความเหมาะสมของสภาพแวดล้อม
สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม หมายถึงสภาพของอุณหภูมิ และความชื้น ของอากาศ ที่ช่วยให้สัตว์สามารถระบายความร้อนออกจากร่างกายได้อย่างเป็นปกติดี เมื่อสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม จะก่อให้เกิดปัญหา “ความเครียดจากความร้อน” (Heat Stress) ซึ่งสามารถประเมินค่า ดรรชนีความเครียด ได้ดังนี้
ดรรชนีความเครียด (Heat Stress Index) = อุณหภูมิ (เป็น °F) + ความชื้น (เป็น %RH)
ถ้าผลรวมที่ได้ เท่ากับ หรือมากกว่า 160 แสดงว่าสภาพอากาศในขณะนั้น เริ่มทำให้สัตว์เกิดความเครียด
หลักการระเหยน้ำช่วยให้อุณหภูมิลดลง
การระเหยของน้ำทำให้เกิดความเย็น เป็นที่รู้จัก และได้มีการนำมาใช้ประโยชน์นานแล้ว โดยอาศัยหลักการเปลี่ยนสถานะของน้ำ จากสถานะที่เป็นของเหลวให้เป็นสถานะที่เป็นก๊าซ หรือน้ำระเหยไปเป็นไอน้ำ จะดูดซับความร้อนแฝงของอากาศไป ทำให้อุณหภูมิของอากาศลดลง กล่าวคือ ทุก 1 กรัมของน้ำที่ระเหยไป จะดูดซับพลังงานความร้อนแฝง 540 แคลอรี แต่อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพของการระเหยน้ำ จะขึ้นอยู่กับ อุณหภูมิ และความชื้น ของสภาวะอากาศตามธรรมชาติ ในขณะนั้นด้วย ทั้งนี้เป็นเพราะ น้ำจะสามารถระเหยได้ดี เมื่ออากาศมี อุณหภูมิไม่น้อยกว่า 85 °F หรือ 29.4 °C และ/หรือ มีความชื้นสัมพัทธ์ไม่เกิน 75 %RH
หลักการลมช่วยให้อุณหภูมิลดลง
ลม จะช่วยพาความร้อน และความชื้นที่สะสมอยู่ในบริเวณนั้น และใกล้เคียงออกไป เป็นการช่วยถ่ายเทความร้อนตามหลักฟิสิกส์ อุณหภูมิของอากาศจะลดลงตามความเร็วลมที่เพิ่มขึ้น เรียกว่า ปฏิกิริยาความเย็นจากลม (Effective Temperature)
ปฏิกิริยาอุโมงค์ลม (Tunnel Effect)
เป็นปฏิกิริยาการเคลื่อนที่ของลมไหลผ่านอุโมงค์ที่มีช่องเปิดด้านหัว-ท้าย มีขนาดเท่ากันโดยตลอด ไม่มีสิ่งกีดขวาง และแรงเสียดทาน ลมจะเคลื่อนผ่านอุโมงค์ อย่างสม่ำเสมอ และมีความเร็วเท่ากัน ตลอดทุกช่วงความยาวของอุโมงค์
ความกดดันบรรยากาศ
ความกดดันบรรยากาศ หมายถึง ความกดดันของอากาศ ที่กดลงบนพื้นโลก ณ ระดับน้ำทะเล มีค่าเท่ากับ 1 บรรยากาศ หรือ 101.325 KPa
ค่าความกดดันอากาศ เป็นบวก (Positive Pressure) หรือเป็นลบ (Negative Pressure)
หมายถึง ค่าความกดดันอากาศที่แตกต่างกัน (Different Pressure) ระหว่าง ค่าความกดดันบรรยากาศภายนอกโรงเรือน กับค่าความกดดันอากาศภายในโรงเรือน มีค่าเป็น บวก หมายถึง ปริมาณอากาศที่ถูกดูดออกไป มีน้อยกว่า ปริมาณอากาศที่ไหลเข้ามาในโรงเรือน และมีค่าเป็น ลบ หมายถึง ปริมาณอากาศที่ถูกดูดออกไป มีมากกว่าปริมาณอากาศที่ไหลเข้ามาในโรงเรือน
ในกรณีที่มีการบังคับลม ทำให้ลมมีความเร็ว หรือปริมาณลมที่ไหลผ่านพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แตกต่างกัน จะทำให้ค่าความกดดันอากาศ ในโรงเรือนส่วนนั้นแตกต่างกันด้วย ความกดดันอากาศภายในโรงเรือนที่เพิ่มขึ้น ย่อมส่งผลทำให้ประสิทธิภาพของพัดลม ลดลงด้วย โดยเฉพาะ ความกดดันอากาศที่สูงกว่า 0.15 นิ้วของน้ำ หรือ 37.5 Pa จะทำให้ประสิทธิภาพของพัดลม ลดลงอย่างมากจนอาจต่ำกว่าค่าที่ยอมรับได้ ดังนั้น จึงควรพิจารณาอย่างรอบคอบในการบังคับลม เพื่อให้พัดลมยังคงมีประสิทธิภาพในการใช้งานที่ดี และยอมรับได้
ระบบ Evap. สำหรับโรงเรือนเลี้ยงสัตว์
เป็นการนำเอาหลักการ ระเหยของน้ำ การใช้ประโยชน์จากลม และลักษณะการไหลของลมผ่านอุโมงค์ มาใช้ร่วมกัน โรงเรือนระบบ Evap. เป็นวิธีการระบายอากาศในโรงเรือนที่มีลักษณะยาวตรง และปิดมิดชิด โดยที่ปลายด้านหนึ่ง ติดตั้งพัดลมดูดอากาศ และที่ปลายอีกด้านหนึ่งติดตั้ง “แผ่นระเหยน้ำ” (Cooling Pad) เมื่อพัดลมทำงาน อากาศในโรงเรือนจะถูกดูดออกไป ทำให้ภายในโรงเรือน เกิดความกดดันอากาศเป็นลบ (Negative Pressure) อากาศภายนอกโรงเรือน จะถูกความกดดันของบรรยากาศนอกโรงเรือน กดดันให้อากาศไหลเข้ามาในโรงเรือน ผ่านทางช่องเปิดซึ่งติดตั้ง “แผ่นระเหยน้ำ” (Cooling Pad) แล้วไหลผ่านตลอดความยาวภายในโรงเรือนไป อย่างสม่ำเสมอ และต่อเนื่องกัน (Potential Flow) และถูกเป่าทิ้งไปทางพัดลมดูดอากาศ การเคลื่อนที่ของลมในลักษณะนี้ เป็นไปตามหลักการ ปฏิกิริยาอุโมงค์ลม จึงช่วยให้สัตว์ที่เลี้ยงอยู่ในโรงเรือน ได้รับการระบายอากาศอย่างสม่ำเสมอ และใกล้เคียงกันตลอดทั้งโรงเรือน และใช้พัดลมที่มีจำนวนน้อยกว่า ซึ่งดีกว่า การใช้พัดลมเป่าไปที่สัตว์โดยตรง (Positive Pressure) เพราะสัตว์ที่อยู่ใกล้พัดลมจะได้รับการระบายอากาศมากกว่าสัตว์ที่อยู่ห่างจากพัดลม อย่างไรก็ตาม ต้องคำนวณให้มีปริมาณลมอย่างเพียงพอที่จะพา ความร้อน และความชื้น ออกไปจากโรงเรือนได้อย่างต่อเนื่อง เหมาะสมกับปริมาณ ความร้อน และความชื้น ที่เกิดขึ้นในโรงเรือน และต้องมีความเร็วลมพอเหมาะ ที่จะช่วยให้สัตว์เกิดความเย็นสบาย
การนำคุณสมบัติของความเร็วลมมาใช้ เพื่อช่วยให้สัตว์มีความรู้สึกเย็นสบายขึ้น เรียกว่า ปฏิกิริยาความเย็นที่เกิดจากกระแสลม (Wind-Chilled Effect) อย่างไรก็ตาม ปฏิกิริยานี้ มีข้อจำกัด และเงื่อนไขในการใช้งาน ดังนี้
1. ความเร็วของกระแสลมที่ไหลผ่านตัวสัตว์ ถ้าน้อยกว่า 60 ฟุต/ นาที หรือ 0.30 เมตร/ วินาที จะไม่เกิดปฏิกิริยาฯ หรือเกิดน้อยมาก และถ้ามากกว่า 800 ฟุต/ นาที หรือ 4.0 เมตร/ วินาที เป็นสภาพที่เรียกว่า ลมโกรก ซึ่งจะทำให้สัตว์สูญเสียความร้อน และความชื้น ออกจากร่างกายมากเกินไป ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสัตว์
2. อุณหภูมิของลมที่ไหลผ่านตัวสัตว์ ถ้าสูงเกินกว่า 95 °F หรือ 35 °C จะไม่เกิดปฏิกิริยาที่ดี หรือจะไม่สามารถช่วยให้สัตว์เย็นสบายได้อย่างที่ต้องการ หรือไม่คุ้มค่าในการใช้งาน ดังนั้น ในสภาวะอากาศร้อน จึงควรลดอุณหภูมิของอากาศ (ลม) ลงก่อน โดยการให้ลมไหลผ่านการระเหยของน้ำ อุณหภูมิของลมจะลดต่ำลง และเมื่อบังคับให้ลมมีความเร็วที่เหมาะสม จะทำให้อากาศมีความเย็นสบายขึ้น
โรงเรือนระบบ Evap. ให้ประโยชน์อะไร
ตามปกติในเขตร้อนชื้น อุณหภูมิของอากาศ จะแตกต่างกันมากในแต่ละช่วงเวลาของวัน กล่าวคือ ในเวลากลางคืน อุณหภูมิของอากาศจะเย็นสบาย อยู่ในระดับที่น่าพอใจ แต่ในเวลากลางวัน อุณหภูมิของอากาศจะสูง ขึ้น จนอาจก่อให้เกิดปัญหากับการเลี้ยงสัตว์ได้ โรงเรือนระบบ Evap. ต้องมีอุปกรณ์ควบคุมการทำงานของ พัดลม และปั๊มน้ำ เพื่อให้มีการ เปิด-ปิด พัดลม ตามระดับอุณหภูมิของอากาศ และมีการ เปิด-ปิด ปั๊มน้ำ ตามระดับอุณหภูมิ และความชื้นของอากาศ การทำงานของพัดลม และปั๊มน้ำ จะต้องมีความสัมพันธ์ต่อกัน และเป็นไปตามความต้องการของสัตว์เลี้ยง อากาศในโรงเรือนระบบ Evap. จะไม่มีความแตกต่างกันมากนัก ระหว่างกลางวัน และกลางคืน ทำให้สัตว์มีความเครียดลดลง โดยไม่ต้องผจญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศอย่างรวดเร็ว และลดปัญหาที่เกิดจากสภาพอากาศร้อน
โรงเรือนระบบ Evap. ในเขตร้อนชื้น
สภาพแวดล้อมในเขตร้อนชื้น เช่น ประเทศไทย จะมีอุณหภูมิ และความชื้นสูง ทำให้ประสิทธิภาพในการระเหยน้ำต่ำ ทำให้ลดอุณหภูมิลงได้ในระดับหนึ่ง จากประสบการณ์ของผู้เขียน พบว่า ในการเลี้ยงไก่เนื้อ ขนาด 2.20 กก. ในขณะที่อากาศในท้องถิ่นมี อุณหภูมิ 38 °C และความชื้น 40 %RH อากาศที่ไหลผ่าน Cooling Pads ด้วยความเร็ว 1.5 m/s อุณหภูมิจะลดลงเหลือ 26.5 °C และความชื้น 87 %RH เมื่อตรวจสอบที่กลางโรงเรือน (ในการเลี้ยงไก่เนื้อ ขนาด 2.20 กก. ที่ความหนาแน่น 27.5 กก./ตร.ม.) ได้ค่าโดยประมาณ ดังนี้ อุณหภูมิของอากาศ 28.5 – 29.0 °C และความชื้น 80 - 85 %RH ในขณะที่ความเร็วลมเฉลี่ยประมาณ 2.5 m/s เมื่อคำนวณหาค่า ดรรชนีความเครียด (Heat Stress Index) พบว่า ค่าดรรชนีความเครียดอยู่ที่ประมาณ 165 -167 แต่ถ้า ค่าดรรชนีความเครียดสูงถึง 175 จะพบว่ามีอัตราการตายสูงขึ้น อย่างเห็นได้ชัด ในกรณีนี้ ดังนั้น จะเห็นว่า ระบบ Evap. ในเขตร้อนชื้นส่วนใหญ่มักมี ค่าดรรชนีความเครียดสูงกว่าค่ามาตรฐาน (160) เสมอ สัตว์จึงยังคงมีความเครียดอยู่บ้าง อันที่จริง ผลการผลิตโดยทั่วไป ยังคงได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เมื่อเปรียบเทียบกับการเลี้ยงสัตว์ในโรงเรือนเปิด
ข้อสังเกต และคำแนะนำการใช้ประโยชน์ระบบ Evap. ในเขตร้อนชื้น
ในการใช้ประโยชน์โรงเรือนระบบ Evap. เพื่อเลี้ยงสัตว์ในเขตร้อนชื้นให้ได้ผลดี ควรออกแบบให้ ระบบ Evap. ระเหยน้ำได้มาก โดยสามารถทำความชื้นให้ถึง 80 – 85 %RH และให้มีความเร็วลมในโรงเรือนไม่น้อยกว่า 2.5 – 2.8 m/s เพื่อใช้ประโยชน์ความเย็นจากความเร็วลม (Wind-Chilled Effect) และลมยังช่วยพาความชื้นออกไปจากโรงเรือน ซึ่งจะช่วยทำให้ ค่าดรรชนีความเครียด (Heat Stress Index) ลดลงได้ในระดับหนึ่ง สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ต้องจัดการให้กระแสลมมีความสม่ำเสมอทั่วถึงกันทั้งโรงเรือน และไม่มีจุดอับลม จึงจะได้ผลเต็มที่เพื่อให้การเลี้ยง
สัตว์ในเขตร้อนชื้น ประสบผลสำเร็จที่ดี จึงควรพิจารณาปัจจัยอื่นร่วมด้วย ดังนี้คือ การใช้สูตรอาหารที่เหมาะสม ความหนาแน่นในการเลี้ยงสัตว์พอเหมาะกับสภาพโรงเรือน มีการจัดการที่ดี และถูกต้อง
คำแนะนำทั่วไปในการคำนวณ - ออกแบบ ระบบ Evap. สำหรับโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ในเขตร้อนชื้น
ขั้นตอนในการคำนวณ และออกแบบ ระบบ Evap. สำหรับโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ มีดังนี้
1. คำนวณหาปริมาณลมเฉลี่ยสูงสุด ที่เหมาะสมกับการเลี้ยงสัตว์ การคำนวณหาปริมาณลมที่ต้องการ มีวิธีคำนวณจากฐานข้อมูลที่ต่างกัน 2 วิธี และผลที่ได้ก็แตกต่างกันด้วย แล้วแต่กรณี ดังนั้น จึงควรคำนวณจากทั้ง 2 วิธี แล้วให้พิจารณาใช้ค่าปริมาณลมมากที่สุด เป็นหลักในการใช้งานจริง (ดูในตารางที่ 1)
1.1 คำนวณจาก ค่าอัตราการระบายอากาศ (Air Flow Rate) โดยคิดจากน้ำหนักของสัตว์ และจำนวนสัตว์ ที่เลี้ยงในโรงเรือน ดังนี้
ปริมาณลมเฉลี่ยสูงสุด = จำนวนสัตว์ x น้ำหนักเฉลี่ย x Air Flow Rate
หน่วย : CMH หรือ ลูกบาศก์เมตร ต่อ ชั่วโมง
1.2 คำนวณจาก ค่าอัตราการถ่ายเทอากาศ (Air Change Rate) เพื่อหาปริมาณลมที่ใช้ในการระบายอากาศต่อปริมาตรของโรงเรือน ซึ่งเป็นไปตามหลักวิศวกรรมการระบายอากาศ ในการระบายถ่ายเทเอา ความร้อน ความชื้น ฝุ่นละออง และอากาศเสีย ออกไปจากโรงเรือน และนำเอาอากาศดีจากภายนอกโรงเรือนเข้ามาแทนที่
ปริมาณลมเฉลี่ยสูงสุด = ปริมาตรภายในของโรงเรือน (ลบ.ม.) x Air Change Rate
หน่วย : CMH หรือ ลูกบาศก์เมตร ต่อ ชั่วโมง
2. ให้ตรวจสอบค่า ความเร็วลม (Velocity) สูงสุดเฉลี่ยที่ไหลผ่านในโรงเรือน จะต้องเพียงพอ หรือไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ใน ตารางที่ 1 โดยใช้วิธี แก้ไขจำนวนพัดลม พื้นที่หน้าตัดของโรงเรือน หรือวิธีการบังคับลม วิธีใดวิธีหนึ่ง หรือหลายวิธีร่วมกัน แล้วแต่กรณี โดยใช้สูตรในการคำนวณ ดังนี้
ความเร็วลม = ปริมาณลมจากพัดลมที่ใช้จริง ¸ 3,600 ¸ พื้นที่หน้าตัดของโรงเรือน (ตร.ม.)
หน่วย : m / s หรือ เมตร ต่อ วินาที
3. ให้คำนวณหาจำนวนพัดลมที่ต้องการใช้ ตามประสิทธิภาพของพัดลม โดยให้ใช้ค่าปริมาณลม ที่แรงดันสถิต (Static Pressure) ใช้งานจริง (ดูตัวอย่างข้อมูล ในตารางที่ 2)
4. คำนวณหาจำนวน Cooling Pad ที่ต้องใช้ โดยให้ความเร็วลมไหลผ่าน Pads ในอัตรา 1 - 1.5 เมตร / วินาที (ดูตัวอย่างข้อมูล ในตารางที่ 3) โดยใช้สูตรในการคำนวณ ดังนี้
พื้นที่หน้า Pads (ตร.ม.) = ปริมาณลมจากพัดลมที่ใช้จริง ¸ ความเร็วลมผ่าน pads ¸ 3,600
5. ให้มีค่าความกดดันอากาศเป็นลบ (Negative Pressure) ในโรงเรือน อยู่ระหว่าง 12.5 – 37.5 Pa หรือ 0.05 – 0.15 นิ้วของน้ำ
6. ควรติดตั้ง พัดลม และ Cooling Pad ให้กระแสลม เดินเป็นเส้นตรงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และควรคำนึงถึงหลักการเคลื่อนที่ของลม (Aero Dynamic) เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดกระแสลมปั่นป่วน (Turbulent Flow) และจุดอับลม (Dead Wind) ทั้งนี้ ต้องพิจารณาลักษณะภายในโรงเรือน และการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ร่วมด้วย
7. คำนวณ ขนาดปั๊มน้ำให้เหมาะสม ตามขนาด และจำนวน Pads เช่น Pad ขนาด 1.8 x 0.3 x 0.15 เมตร ให้ใช้ปั๊มน้ำที่มีอัตราการไหล 3 ลิตร / นาที ต่อ Pad 1 แผ่น (ที่ค่า Head ใช้งานจริง) และถังพักน้ำ ควรมีปริมาตร 30 % ของปริมาตร Pads ที่ใช้งาน ถ้าแยกการติดตั้ง Pads เป็นหลายชุด ให้คำนวณการใช้อุปกรณ์แยกกันแต่ละชุด แต่ในการใช้งาน ให้ควบคุมการทำงานของปั๊มน้ำแต่ละตัวให้ เปิด-ปิด พร้อมกัน
8. มีการถ่ายน้ำทิ้ง (Bleed – off) อย่างถูกต้อง เพื่อช่วยยืดอายุการใช้งานของ Pads ให้เปิดน้ำที่ไหลกลับลงถังพักน้ำ ทิ้งไปบางส่วน น้ำใหม่จะมีโอกาสเติมเข้าถังพักน้ำได้มากขึ้น เพื่อลดความเข้มข้นของน้ำในถังพักลง และรักษาค่า pH ของน้ำที่ไหลผ่าน Pad ให้อยู่ระหว่าง 6 – 8
9. ควรติดตั้งแสลน หรือมุ้งไนล่อน ห่างจากหน้า pads ประมาณ 1.00 เมตร เพื่อป้องกัน แมลง ใบไม้ ดอกหญ้า และฝุ่นผง ไม่ให้เข้าไปอุดตันช่องอากาศของ cooling pad
10.ติดตั้งพัดลมให้ถูกทิศทาง อย่าให้สวนทางกับกระแสลมตามธรรมชาติ อาจติดตั้งแสลนห่างจากหน้า พัดลม ประมาณ 4.00 เมตร เพื่อป้องกันฝุ่นละอองจากในโรงเรือนไม่ให้ฟุ้งกระจายออกไป และป้องกันกระแสลมตามธรรมชาติไม่ให้พัดไปอัดที่หน้าพัดลมโดยตรง เพื่อให้พัดลมยังคงมีประสิทธิภาพในการใช้งาน ในขณะที่มีลมพัดแรง
11.การติดผ้าม่าน หรือการบังคับลมที่ไหลผ่าน Cooling Pad จะต้องพิจารณาถึงความจำเป็น ตามสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในท้องถิ่น วัตถุประสงค์ และความคุ้มค่าในการใช้งานด้วย โดยทั่วไป การบังคับลมที่ผ่าน Pads จะใช้ในเขตที่มีอากาศหนาว เพื่อเพิ่มความเร็วลมในการพาความชื้น และอากาศเสียออกไป แต่ไม่ต้องการให้กระแสลมผ่านตัวสัตว์ เพราะจะทำให้สัตว์เกิดความหนาวเย็นมากเกินไป และมักจะใช้กับการดูดอากาศ แบบตามขวางโรงเรือน (Cross Flow) มากกว่า แบบตามยาวโรงเรือน (Longitudinal Flow)
ตารางที่ 1 คำแนะนำ ที่ใช้ประกอบการคำนวณ ระบบ Evap. สำหรับโรงเรือนเลี้ยงสัตว์
โดย นายศิขัณฑ์ พงษพิพัฒน์
ชนิด หรือประเภทสัตว์ |
Air Flow Rate (CMH / kg) |
Air Change Rate (Air Change / hr.) |
Stocking Density (kg. / sq.m.) |
Velocity (m /s ) |
ไก่เนื้อ ขนาด £ 2.00 ก.ก. |
6.8 - 7.5 |
90 ±10% |
£ 30 |
2.0 – 3.0 |
ไก่เนื้อ 2.00– 2.50 ก.ก. |
7.0 - 8.5 |
90 ±10% |
24 – 28 |
2.5 – 3.5 |
ไก่เนื้อ ขนาด > 2.50 ก.ก |
8.0 - 10.0 |
90 ±10% |
22 – 26 |
2.7 – 3.5 |
เป็ดไข่ และเป็ดเนื้อ |
7.5 - 8.5 |
90 ±10% |
20 – 26 |
2.5 – 3.5 |
ไก่ไข่ (กรงตับ) |
7.0 - 8.5 |
90 ±10% |
≥ 430 ตร.ซม./ตัว |
3.0 – 4.5 |
ไก่พ่อ-แม่พันธุ์ (ไก่ไข่) |
7.5 - 9.5 |
90 ±10% |
22 - 26 |
2.5 – 3.0 |
ไก่พ่อ-แม่พันธุ์ (ไก่เนื้อ) |
8.0 - 10.0 |
100 ±10% |
20 - 24 |
2.7 – 3.5 |
สุกรขุน |
7.0 - 10.0 |
100 ±10% |
50 - 100 |
2.5 – 3.5 |
สุกรพันธุ์ และวัวนม |
8.0 - 10.5 |
100 ±10% |
30 - 75 |
2.5 – 3.5 |
หมายเหตุ 1. ตารางนี้เป็นเพียงคำแนะนำเท่านั้น ความสำเร็จของระบบฯ ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอีกหลายประการ
2. การใช้ค่า อัตราความหนาแน่นในการเลี้ยงสัตว์ ควรพิจารณาถึงสายพันธุ์สัตว์ที่เลี้ยงด้วย เพราะสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตสูง (High Yield) มักทนต่อสภาพแวดล้อมได้ไม่ดี ถ้าอัตราความหนาแน่นในการเลี้ยงสูง อาจทำให้ประสิทธิภาพของสัตว์ลดลง
3. การคำนวณ จำนวนสัตว์ น้ำหนักสัตว์เฉลี่ย และอัตราความหนาแน่นในการเลี้ยงสัตว์ ให้คิดที่กำหนดเวลา หรือการผลิต (ซึ่งท่านต้องมีข้อมูล หรือวางแผนไว้ล่วงหน้า แล้ว) ดังต่อไปนี้
3.1 ไก่เนื้อ เป็ดเนื้อ และสุกรขุน ให้คิดที่ กำหนดเวลา หรืออายุที่ปลดขาย
3.2 ไก่พันธุ์ ไก่ไข่ และเป็ดไข่ ให้คิดที่ อายุที่ถือว่าเริ่มการผลิต (เช่น ในไก่พันธุ์เมื่อได้ไข่ 5% หรือในไก่ไข่ เมื่อได้ไข่ 10%)
3.3 สุกรพันธุ์ และวัวนม ให้คิดที่ น้ำหนักเฉลี่ย ในช่วงอายุที่ให้ผลผลิต (ผสมพันธุ์ หรือให้นม)
ตารางที่ 2 ตัวอย่างข้อมูล แสดงประสิทธิภาพของพัดลมดูดอากาศ UT FAN 50
ค่าแรงดันสถิต ของพัดลม |
ปริมาณลม |
||
Pascals |
นิ้ว ของน้ำ |
ลูกบาศก์เมตร / ชั่วโมง |
ลูกบาศก์ฟุต / นาที |
0.0 |
0.000 |
39,500 |
23,500 |
12.5 |
0.050 |
37,722 |
22,203 |
24.9 |
0.100 |
35,749 |
21,042 |
31.1 |
0.125 |
34,669 |
20,406 |
37.4 |
0.150 |
33,527 |
19,734 |
From: โดย บริษัท ยูที เอ็นจิเนียริ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จำหน่ายแต่ผู้เดียวในประเทศไทย
ตารางที่ 3 ตัวอย่างข้อมูล แสดงประสิทธิภาพของ Cooling Pad CeLPadTM
ความเร็วลม ที่ไหลผ่าน CeLPadä |
ประสิทธิภาพจากการระเหยน้ำ (%) |
ความกดดันอากาศ (Pa , Pascal) |
||||
ความหนาของ CeLPadä |
ความหนาของ CeLPadä |
|||||
150 ม.ม. |
100 ม.ม. |
75 ม.ม. |
150 ม.ม. |
100 ม.ม. |
75 ม.ม |
|
0.5 เมตร / วินาที |
93 |
83 |
73 |
10 |
5 |
2 |
1.0 เมตร / วินาที |
90 |
78 |
69 |
15 |
10 |
5 |
1.5 เมตร / วินาที |
87 |
74 |
64 |
30 |
20 |
10 |
2.0 เมตร / วินาที |
84 |
71 |
61 |
50 |
35 |
20 |
From: HUTEK (Asia) Co., Ltd. THAILAND
หลักการควบคุมการทำงาน ระบบ Evap. โดยทั่วไป
ควรเลือกใช้เครื่องควบคุม อุณหภูมิ และความชื้น ที่มีจำนวนช่องส่งสัญญาณในการสั่งงาน ให้เพียงพอกับการใช้งาน (4 – 8 ports) แขวนหัว Sensors ไว้ที่จุดกึ่งกลางโรงเรือน และสูงประมาณ 0.50 - 1.00 เมตร ให้ตั้งค่าอุณหภูมิ และความชื้น เพื่อควบคุมการทำงานของระบบ Evap. ดังนี้
1. ให้พัดลมทำงานครบทุกตัว ที่อุณหภูมิไม่เกิน 28 – 30 °C ให้พัดลมแต่ละชุด (Port) มีค่าอุณหภูมิ ต่างกัน 1.0 - 1.5 °C การเปิด และปิด พัดลมแต่ละตัวให้มีค่าอุณหภูมิต่างกัน 0.5 °C
2. ให้ตั้งค่าอุณหภูมิ เพื่อปิดพัดลมทุกตัว เมื่ออุณหภูมิของอากาศ ต่ำกว่า 18 °C ในกรณีที่อุณหภูมิของอากาศภายนอกโรงเรือนต่ำมาก ควรใช้โปรแกรมควบ คุมการ ทำงานของพัดลมแบบ เปิด–ปิด เป็นช่วงเวลา (Timer) โดยให้ความเร็วลมในโรงเรือนไม่เกิน 0.3 เมตร / วินาที หรือ 60 ฟุต / นาที
3. ตั้งค่าอุณหภูมิ และความชื้น สำหรับควบคุมการทำงานของ เครื่องปั๊มน้ำ ดังนี้
3.1 ให้เครื่องปั้มน้ำเริ่มทำงาน ที่อุณหภูมิไม่เกิน 27 – 30 °C
3.2 ให้ตั้งค่าความชื้นสูงสุด (เพื่อปิดปั๊มน้ำ) ที่ 80 – 85 %RH และ ตั้งค่าความชื้นต่ำสุด (เพื่อเปิดปั๊มน้ำ) ที่ 75 – 80 %RH อนึ่ง ควรตั้งค่าความชื้น สูงสุด - ต่ำสุด เพื่อการเปิด-ปิด ปั๊มน้ำให้ต่างกัน 5 %RH
การควรควบคุมเครื่องปั๊มน้ำ ด้วยค่าความชื้นสัมพัทธ์ ควบคู่ไปกับการทำงานของพัดลม ซึ่งควบคุมการทำงานด้วยค่าอุณหภูมิ จะสามารถควบคุมค่า ดรรชนีความเครียด (Heat Stress Index) ในโรงเรือนได้ดี การควบคุม ปั๊มน้ำด้วยการตั้งเวลา (Timer) จะไม่สามารถควบคุม ค่าความชื้นในโรงเรือนได้ เพราะเราไม่สามารถรู้ได้ว่า ความชื้นจะสูง หรือต่ำ ในเวลาใด และอาจทำให้สัตว์เกิดความเครียดมากขึ้น และ/หรือ บ่อยขึ้น ซึ่งล้วนเป็นผลเสียทั้งสิ้น
ปัญหาที่เกิดจากน้ำ
น้ำ เป็นสิ่งที่จำเป็น และมีความสำคัญต่อระบบ Evap. อย่างมาก ดังนั้นจึงต้องให้ความสนใจ และดูแลจัดการอย่างถูกต้อง เพื่อทำให้ระบบ Evap. มีประสิทธิภาพสูง และคุ้มค่าในการลงทุน น้ำอาจก่อให้เกิดปัญหาได้หลายประการ ดังต่อไปนี้
1. การเกิดตะกรันหินปูน (Scale Forming) เกิดจากสารละลายแคลเซียมไบคาร์บอนเนต ซึ่งเป็นสารที่มีอยู่แล้วในน้ำตามธรรมชาติ เมื่อเกิดเงื่อนไขบางประการ เช่นเมื่อมีความเข้มข้นมากขึ้น มีสภาพด่างสูงขึ้น อุณหภูมิของน้ำสูงขึ้น หรือเมื่อความกดดันของน้ำสูงขึ้น จะทำให้สารละลายแคลเซียมไบคาร์บอนเนต เปลี่ยนรูปไปเป็น แคลเซียมคาร์บอนเนต (หินปูน) และตกตะกอน หรือก่อตัวเป็นตะกรันหินปูน ทำให้เกิดปัญหา และความเสียหายขึ้น
2. สภาพด่าง (Alkalinity) น้ำที่มีค่า pH ตั้งแต่ 7.5 ขึ้นไป จะมีความโน้มนำให้เกิดตะกรันหินปูน และก่อให้เกิดปัญหาทางเคมีจากสภาพด่างด้วย น้ำที่มีสภาพด่างสูง จะทำให้สาร Resin และ Lignin ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญของเยื่อกระดาษถูกทำลาย ทำให้เยื่อกระดาษ เปื่อยยุ่ย และผุพัง เร็วกว่าเวลาที่ควร
3. การเกิดการกัดกร่อน (Corrosion) เป็นปฏิกิริยาทางเคมีไฟฟ้า (Electrochemical Reaction) ที่เกิดขึ้นกับโลหะที่สัมผัสอยู่กับน้ำ และก๊าซออกซิเจนจะเข้าทำปฏิกิริยาซ้ำ (Oxidation Reaction) ทำให้โลหะถูกกัดกร่อน และเป็นสนิม ส่วนเยื่อกระดาษจะถูกทำลายจากผลของ Oxidation
4. การเกิดเชื้อรา และตะไคร่น้ำ (Biological Growth) ซึ่งเป็นจุลชีพ ที่มีอยู่แล้วในน้ำตามธรรมชาติ เมื่ออุณหภูมิ และความชื้นเหมาะสม จุลชีพเหล่านี้จะเจริญเติบโตขึ้น และเยื่อกระดาษซึ่งเป็นสาร Cellulose เป็นแหล่งอาหารที่ดีของจุลชีพเหล่านี้ เพียงเวลาไม่กี่วัน จุลชีพจะแข็งแรง และเจริญเติบโตมากขึ้น จากการใช้เยื่อกระดาษเป็นอาหาร ดังนั้น กระดาษที่ใช้ทำ Cooling Pad จะถูกทำลาย และเน่าเปื่อย อย่างรวดเร็ว
การแก้ปัญหาที่เกิดจากน้ำ
พอจะสรุป การแก้ปัญหาที่เกิดจากน้ำ ได้เป็น 2 ประการ ดังนี้
1. ปัญหาทางด้านเคมี ควรตรวจคุณภาพน้ำ เพื่อให้ทราบถึงปัญหาที่แท้จริง และแก้ไขอย่างถูกต้อง สภาพน้ำส่วนใหญ่ในประเทศไทย โดยเฉพาะน้ำบาดาล มักมีสภาพเป็นด่าง และก่อให้เกิดปัญหาหินปูน การถ่ายน้ำทิ้ง จะควบคุมความเข้มข้นของสารละลาย และค่า pH ของน้ำได้ดี ในขณะที่มีค่าใช้จ่ายต่ำที่สุด น้ำที่มีค่า pH สูงกว่า 8 จะเป็นน้ำกระด้างถาวรไม่แนะนำให้ใช้ในระบบ Evap. เพราะจะทำให้ระบบเกิดความเสียหาย และทำให้กระดาษ Cooling Pad มีอายุการใช้งานสั้นลง โดยทั่วไป ไม่นิยมบำบัดน้ำแก้ความกระด้างเพื่อนำมาใช้กับระบบ Evap. เพราะมีค่าใช้จ่ายสูงไม่คุ้มค่าในการใช้งาน ดังนั้น ควรหาแหล่งน้ำอื่นมาใช้แทน เช่น น้ำผิวดิน ซึ่งส่วนใหญ่จะมีค่าความกระด้างต่ำกว่าน้ำบาดาล แต่ต้องมีการจัดการ หรือบำบัดเพื่อทำน้ำประปาอย่างถูกต้อง จึงจะได้ผลดี และมีค่าใช้จ่ายต่ำ
2. ปัญหาทางด้านจุลชีพ แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ใช้แสงอาทิตย์ในการสังเคราะห์แสง แก้ปัญหาง่ายๆ โดยการปกปิดถังพักน้ำ และระบบท่อน้ำ ไม่ให้แสงสว่างส่องเข้าไปถึง จุลชีพในกลุ่มนี้ก็จะไม่สามารถเจริญเติบโตได้ กลุ่มที่ไม่ใช้แสงอาทิตย์ในการสังเคราะห์แสง ให้ล้างทำความสะอาดถังพักน้ำทุกสัปดาห์ ในกรณีที่ ต้องการใช้สารเคมี เพื่อฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ในน้ำ ต้องใช้ความระมัดระวัง อย่าใช้สารประเภทที่เป็น Oxidizing Agent หรือสารที่มีฤทธิ์ เป็นกรด หรือด่าง เพราะจะทำให้กระดาษ Cooling Pad เสียหายได้ และควรควบคุมระบบน้ำให้ Cooling Pad มีโอกาสแห้งสนิท ไม่น้อยกว่า 2 – 3 ชั่วโมง ในทุกๆรอบ 24 ชั่วโมง เพื่อตัดวงจรการเจริญเติบโตของจุลชีพ
การดูแล และบำรุงรักษา Cooling Pad
1. น้ำที่ไหลผ่าน Cooling Pad ควรมีค่า pH 6 – 8 และความกระด้างไม่เกิน 100-150 ppm as CaCO3 ในกรณีที่น้ำมีความกระด้างสูงกว่า 300 ppm as CaCO3 ควรมีการบำบัดน้ำก่อนใช้ หรือจัดหาน้ำใช้จากแหล่งอื่น
2. ควรทำการถ่ายน้ำทิ้ง (Bleed–off) อย่างถูกต้อง เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำ มีความเข้มข้นของสารละลาย (TDS) สูงเกินไป จนทำให้เกิดตะกรันหินปูน และมีสภาพด่าง (Alkalinity) สูง ซึ่งอาจทำให้เยื้อกระดาษเสียหาย และมีอายุการใช้งานสั้นลง
3. ไม่ควรใช้ ยาฆ่าเชื้อ หรือสารเคมีที่มีฤทธิ์เป็น Oxidizing Agent เพราะสารเหล่านี้สามารถทำลายเยื้อกระดาษได้ เช่น สารประกอบคลอรีน และสารประกอบเปอร์ออกไซด์ แต่ถ้าจำเป็นให้ใช้ได้ในอัตราไม่เกิน 1 – 2 ppm และไม่ควรใช้สารเคมีที่ทำให้ ค่า pH ของ น้ำเปลี่ยนแปลงไป ต่ำกว่า 6 หรือสูงกว่า 8
4. ห้ามใช้ สารประกอบทองแดง (Copper Compound) เช่นจุลสี ในการกำจัด เชื้อรา ตะไคร่น้ำ หรือสาหร่าย ในบ่อพักน้ำ เพราะสารในกลุ่มนี้สามารถทำลาย เยื่อกระดาษ และโลหะพวก เหล็ก แสตนเลส และอลูมิเนียม
5. ควรใช้ มุ้งไนลอน หรือ สแลน ป้องกัน Cooling Pad จากแมลง เศษไม้ ใบหญ้า หรือดอกหญ้า โดยคลุมที่หน้า Cooling Pad ให้ห่าง ประมาณ 1 เมตร
6. ล้าง ทำความสะอาด Cooling Pad เป็นประจำ และควรปิดน้ำแล้วปล่อยให้ Cooling Pad แห้งสนิท ไม่น้อยกว่า 2 – 3 ชั่วโมง ทุกวัน (ในรอบ 24 ชั่วโมง) เพื่อตัดวงจรของสิ่งมีชีวิตในน้ำ เช่นแบคทีเรีย เชื้อรา สาหร่าย
7. ล้างทำความสะอาด และฆ่าเชื้อโรค ในถังพักน้ำเป็นประจำ สัปดาห์ละ 1 ครั้ง
8. ควรปิดถังน้ำ และท่อน้ำ ไม่ให้แสงแดดส่องผ่านไปถึงน้ำได้ เพื่อป้องกันการเกิดขึ้นของ สาหร่าย และตะไคร่น้ำ
9. ระวังอย่าให้ Cooling Pad สัมผัสกับ อาหารสัตว์ ปุ๋ย มูลสัตว์ ผงซักฟอก สารประกอบฟอสเฟต หรือสารอินทรีต่างๆ ถ้ามีการสัมผัสกับสารเหล่านี้ ควรรีบล้างออกให้หมด เพราะอาจเป็นเหตุให้เกิด เชื้อรา และแบคทีเรีย ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เยื้อกระดาษ เน่า เปื่อย และถ้าพบว่ามีเยื้อกระดาษเน่าเปื่อย ให้รีบตัดส่วนที่เน่าทิ้ง เพื่อป้องกันการลุกลามต่อไป
10. ไม่ควรเก็บ อาหารสัตว์ หรือไข่ ไว้ใกล้เยื่อกระดาษ Cooling Pad เพราะจะเป็นตัวชักนำให้หนูเข้ามากัดทำลาย กระดาษ Cooling Pad เพื่อเข้ามาหาอาหารกินในโรงเรือน
การตรวจสอบ และดูแลการทำงาน ของระบบ Evap.
1. ตรวจวัด อุณหภูมิ ความชื้น และความเร็วลม เป็นครั้งคราว ในโรงเรือนขนาดใหญ่ ให้กำหนดตำแหน่งการตรวจวัด ในตำแหน่งเดิม และเปรียบเทียบกับการตรวจวัดครั้งก่อน เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของ ระบบ Evap.
2. ให้ตรวจดู สภาพวัสดุในโรงเรือน และพื้น ว่าชื้นแฉะ หรือมีกลิ่นเหม็นอับ หรือไม่ ถ้ามีให้ตรวจสอบต่อไปว่า เป็นจุดอับลม หรือเกิดจากปัญหาของอุปกรณ์
3. ตรวจ - วัด ค่า Negative Pressure เป็นครั้งคราว และเปรียบเทียบกับค่าที่เคยบันทึกไว้ครั้งก่อน ถ้าค่า Pressure สูงขึ้น แสดงว่า Cooling Pad ตัน ทำให้ลมผ่านได้ไม่สะดวก หรือถ้าค่า Pressure ต่ำลง แสดงว่าโรงเรือนมีรูรั่ว ทำให้ลมมีช่องทางผ่านเข้าในโรงเรือนได้มากขึ้น
4. ตรวจวัด ค่า pH ในถังพักน้ำเป็นประจำ เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงสภาพน้ำว่ามีมากน้อยเพียงใด ถ้าค่า pH ของน้ำสูงเกิน 8 ให้เพิ่มปริมาณน้ำที่ถ่ายทิ้ง (Bleed – off) มากขึ้น เพื่อรักษาค่า pH ไว้ไม่ให้เกิน 8
5. ทำความสะอาด และตรวจดูสภาพ Cooling Pad เป็นประจำ ดูว่ามีคราบหินปูน ชำรุด หรือมีปัญหาอื่นใด หรือไม่ และให้จัดการตามความจำเป็นเมื่อพบปัญหา
6. ตรวจดูสภาพ การทำงาน และทำความสะอาด พัดลม เป็นประจำ ถ้าชำรุดให้รีบซ่อมโดยด่วน
7. ตรวจดูสภาพโรงเรือน ประตู และผ้าม่าน ว่าอยู่ในสภาพที่ดี หรือไม่ ถ้าชำรุด หรือรั่ว ให้รีบแก้ไข
8. ตรวจดูเครื่องปั๊มน้ำ และระบบท่อน้ำต่างๆ ให้อยู่ในสภาพที่สามารถใช้งานได้ดีอยู่เสมอ