การชะลอความเสียหายจากการก่อตัวของหินปูนบนกระดาษ Cooling Pad

การชะลอความเสียหายจากการก่อตัวของหินปูนบนกระดาษคูลลิ่งแพด (Cooling Pad)

 

โรงเรือนที่ใช้ระบบ Evaporative Cooling หรือนิยมเรียกสั้นๆว่า “โรงเรือน Evap.” เป็นโรงเรือนแบบปิดที่ใช้การระบายอากาศ ร่วมกับการลดอุณหภูมิอากาศด้วยวิธีการระเหยน้ำ อุปกรณ์สำคัญของระบบนี้ก็คือ แผ่นทำความเย็นด้วยการระเหยน้ำ (Cooling Pad หรือนิยมเรียกสั้นๆว่า Pad) ซึ่งทำจากกระดาษชั้นดีผ่านกระบวนการผลิตที่ถูกต้อง จะได้กระดาษที่เรียกว่า Special Impregnated Cellulose Paper มีลักษณะเป็นกระดาษลอนที่มีขนาดสม่ำเสมอตามมาตรฐาน นำกระดาษนี้มาประกอบติดกันด้วยกาวชนิดพิเศษที่สามารถซึมน้ำได้โดยวางแนวลอนกระดาษสลับไขว้กันเป็นท่ออากาศ (Flutes) แล้วนำมาตัดเป็นแผ่นตามขนาดที่ต้องการเป็นคูลลิ่งแพด (Cooling Pad) ซึ่งจะมีคุณสมบัติดูดซับน้ำได้ดี ระเหยน้ำง่าย มีความแข็งแรงสามารถทรงตัวได้ดีเมื่ออุ้มน้ำเต็มที่ ไม่อ่อนนุ่มหรือยุบตัว กระดาษไม่ปริแยกจากกัน และไม่เปื่อยยุ่ยหรือเน่าสลายง่าย แม้กระดาษจะเปียกและแห้งสลับกันอยู่ตลอดเวลา นอกจากนั้นคูลลิ่งแพด (Cooling Pad) ควรมีประสิทธิภาพในการลดอุณหภูมิสูง และมีค่าความกดดันอากาศ (Pressure Drop) ต่ำ การใช้งาน คูลลิ่งแพด (Cooling Pad)  ในสภาวะอากาศร้อน เช่น ประเทศไทย จะมีการระเหยน้ำจากกระดาษในอัตราสูง โดยเฉพาะด้านที่รับลม จะมีอัตราการระเหยน้ำสูงที่สุด เยื่อกระดาษในบริเวณนี้จึงอาจชำรุดเสียหายมากกว่าบริเวณอื่น

 

คุณภาพของน้ำที่ใช้ในระบบ Evap. ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญ  และส่งผลต่ออายุการใช้งานของ     คูลลิ่งแพด (Cooling Pad)  อย่างมาก กล่าวคือ น้ำที่ใช้ ควรเป็นน้ำสะอาดปราศจากตะกอนและสิ่งปนเปื้อน ค่า  pH 6 - 8 ค่าความกระด้างรวม (Total Hardness) ไม่เกิน 150 ppm และค่าสภาพด่างรวม (Alkalinity) ไม่เกิน 100 ppm  หรือไม่ควรใช้น้ำกระด้างในระบบ  Evap. เพราะอาจทำให้ คูลลิ่งแพด (Cooling Pad)  เสียหายได้ง่าย

คุณภาพของน้ำ
 

 

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าน้ำมีความสำคัญมากทั้งการบริโภคและอุปโภค แหล่งน้ำตามธรรมชาติที่ใช้กันทั่วไปได้แก่ น้ำผิวดินและน้ำบาดาล ซึ่งส่วนใหญ่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์มักนิยมใช้น้ำบาดาลเพราะมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการใช้น้ำผิวดินซึ่งต้องมีระบบทำน้ำประปาที่เหมาะสมด้วย น้ำบาดาลมักมีค่า pH และความกระด้างสูงกว่าน้ำผิวดิน คูลลิ่งแพด (Cooling Pad)  จึงมีปัญหาหินปูนและชำรุดเสียหายมากกว่าปกติ ทำให้อายุการใช้งานสั้นลง

 

การระเหยน้ำที่ คูลลิ่งแพด (Cooling Pad)  น้ำเท่านั้นที่ระเหยไป แต่สารละลายที่มีอยู่ในน้ำ (สารละลายที่ทำให้น้ำกระด้าง) ยังคงอยู่เหมือนเดิม  ค่า pH และความเข้มข้นของสารละลายในน้ำหลังจากไหลผ่าน  คูลลิ่งแพด (Cooling Pad)  จึงมีค่าสูงขึ้น และจะมีค่าสูงมากขึ้นเรื่อยๆ ตามจำนวนรอบที่วนน้ำกลับมาใช้ใหม่ โดยทั่วไป น้ำที่มีค่า pH ตั้งแต่ 7.5 ขึ้นไป มีโอกาสเกิดตะกรันหินปูนได้เสมอ และถ้าค่า pH สูงกว่า 9 ขึ้นไป เยื่อกระดาษอาจถูกทำลายด้วยด่างได้ ดังนั้น การควบคุมความเข้มข้นของสารละลายในน้ำไม่ให้สูงขึ้นเร็วจนเกินไป เพื่อช่วยชะลอการก่อตัวของหินปูนและการถูกทำลายด้วยด่างจึงเป็นวิธีการที่ดี ซึ่งจะทำให้ คูลลิ่งแพด (Cooling Pad)  มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น

 

การทิ้งน้ำที่ไหลผ่าน คูลลิ่งแพด (Cooling Pad)  ไปบางส่วน จะทำให้น้ำในถังพักพร่องลง และสามารถเติมน้ำใหม่เข้าไปแทนที่ได้มากขึ้น เรียกวิธีนี้ว่า การถ่ายน้ำทิ้ง (Bleed off) ควรติดตั้งท่อน้ำทิ้งพร้อมประตูน้ำ (Gate Valve) ที่ท้องของท่อน้ำกลับก่อนลงถังพักน้ำ ประตูน้ำที่ท่อน้ำทิ้ง ใช้ปรับอัตราการทิ้งน้ำให้เหมาะสม ตามค่า pH ของน้ำในถังพัก ซึ่งค่า pH ควรสูงไม่เกิน 8 ถ้าค่า pH สูงเกิน 8 ให้เปิดประตูน้ำทิ้งมากขึ้น น้ำใหม่ก็จะเข้ามาผสมในถังพักน้ำได้มากขึ้น ค่า pH และความเข้มข้นของสารละลายในน้ำก็จะถูกควบคุมได้ดีขึ้น

 

 การตั้งถังน้ำระบบอีแว้ป

 

กรณีที่น้ำใช้ในฟาร์มมีค่า pH และความกระด้างสูง โอกาสที่จะเกิดหินปูนบน คูลลิ่งแพด (Cooling Pad)  ก็จะมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะด้านที่รับลม  เมื่อหินปูนก่อตัวขึ้น มันจะแทรกตัวลงไปในเนื้อกระดาษของ คูลลิ่งแพด (Cooling Pad)  และเมื่อมันสะสมมากขึ้น จะทำให้ท่อลมอุดตัน ลมจะไหลผ่าน คูลลิ่งแพด (Cooling Pad)  ยากขึ้น กระดาษส่วนที่ถูกหินปูนเกาะจะดูดซับและระเหยน้ำได้น้อยลง  ประสิทธิภาพของ คูลลิ่งแพด (Cooling Pad)  ก็จะลดลง และอาจทำให้เกิดปัญหาต่อการเลี้ยงสัตว์ในโรงเรือน Evap. ได้ 

 

 

การเริ่มก่อตัวของหินปูนบนกระดาษคูลลิ่งแพด (Cooling Pad)

 

ในกรณีนี้ เราสามารถช่วยลดการสะสมของหินปูนบนกระดาษ คูลลิ่งแพด (Cooling Pad)  ได้ด้วยวิธีง่ายๆ คือ การปัดหินปูนที่ก่อตัวอยู่บนกระดาษออกบ่อยๆ เพื่อลดการสะสมของหินปูน จะช่วยทำให้อายุการใช้งานของ คูลลิ่งแพด (Cooling Pad)  ยาวนานออกไปอีก แต่การใช้ คูลลิ่งแพด (Cooling Pad)  แบบธรรมดา ไม่สามารถทำเช่นนี้ได้ เพราะหินปูนส่วนที่แทรกตัวอยู่ในเนื้อกระดาษ จะทำให้กระดาษฉีกขาดออกมาด้วยในขณะที่ปัดหินปูนออกไป ดังนั้น จึงควรใช้ คูลลิ่งแพด (Cooling Pad)  ชนิดที่เคลือบสารเคมีพิเศษเฉพาะผิวด้านที่รับลม เช่น CeLPad Black® เพื่อป้องกันการแทรกตัวของหินปูนลงไปในเนื้อกระดาษ สารเคมีนี้เป็นสารที่ไม่มีสี ผู้ผลิตจึงผสมสีดำลงไปเพื่อให้สามารถมองเห็นการเคลือบสารและการก่อตัวของหินปูนซึ่งมีสีขาว สารเคมีดังกล่าว จะทำให้ขอบของกระดาษ คูลลิ่งแพด (Cooling Pad)  แข็งขึ้นและลื่น สามารถใช้แปรงอ่อนๆปัดเศษหินปูนที่ก่อตัวอยู่บน คูลลิ่งแพด (Cooling Pad)  ออกไปได้ง่าย โดยไม่ทำให้เนื้อกระดาษฉีกขาด ขอย้ำว่า ต้องใช้สารเคมีที่ถูกต้องเหมาะสมเท่านั้น จึงจะช่วยยืดอายุ คูลลิ่งแพด (Cooling Pad)  ได้ ไม่ใช่การเคลือบสีทาบ้านสีดำหรือสีดำจากเคมีทั่วไป

 

การดูแลบำรุงรักษาที่ดี จะช่วยให้ โรงเรือน Evap. สามารถทำงานได้และมีประสิทธิภาพสูงอยู่เสมออย่างไรก็ตาม การมีความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยงสัตว์ และการเลือกใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ดีเชื่อถือได้ก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ตัวอย่างเช่น คูลลิ่งแพด (Cooling Pad)  ที่มีขายในท้องตลาดปัจจุบัน มีความแตกต่างกันมาก และไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า ตั้งแต่ คุณภาพของกระดาษ สารเคมีที่ใช้ และกระบวนการผลิต ท่านจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อได้ใช้และประสบปัญหาแล้ว ซึ่งอาจทำความเสียหายและไม่คุ้มค่า เพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว ควรเลือกใช้เครื่องมือและอุปกรณ์จากแหล่งผลิตหรือผู้จำหน่าย ที่มีประวัติดีและเชื่อถือได้เท่านั้น      
 

 

คูลลิ่งแพด

Visitors: 151,198