การเลือกแผ่นคูลลิ่งแพดให้ตรงต่อการใช้งาน

การเลือก CeLPad  ให้ตรงต่อการใช้งาน

ฝ่ายวิชาการ บริษัท ฮิวเทค (เซีย) จำกัด                      HTSP-110220

CeLPadâ คือ แผ่นทำความเย็น (Cooling pad หรือ Pad) ทำจากกระดาษ Kraft ซึ่งเยื้อกระดาษมีคุณสมบัติดี ทนทานต่อการฉีกขาดสูงที่สุดเมื่อเทียบกับกระดาษที่ผลิตด้วยวิธีอื่น นำเข้าจากประเทศฟินแลนด์ เมื่อนำมาผลิตเป็น แผ่นทำความเย็น (Cooling pad) จึงมีความแข็งแรงทนทาน สามารถรับแรงกดได้ดีเมื่อกระดาษดูดซับน้ำเต็มที่ ทนต่อแรงกดดันอากาศซึ่งเกิดขึ้นจากการใช้งานในระบบอีแว๊ป ไม่เปื่อยยุ่ยผุพังง่ายเมื่ออยู่ในสภาพที่เปียกน้ำและแห้งสลับกันอยู่เป็นประจำ ลอนกระดาษเป็นรูปโค้งสม่ำเสมอรวมถึงร่องอากาศ (Flute) ที่มีการออกแบบและผลิตอย่างพิถีพิถัน เหมาะกับการใช้งานแต่ละประเภท ใช้กาวชนิดพิเศษที่สามารถดูดซึมน้ำได้ดี ติดแน่น กระดาษไม่ปริหลุดหรือแยกออกจากกัน จึงทำให้ CeLPadâ มีความแข็งแรงทนทาน มีประสิทธิภาพการทำความเย็นสูง และมีค่าความกดดันลด (Pressure Drop) ต่ำ

คูลลิ่งแพด

แผ่นทำความเย็น (Cooling pad) เป็นอุปกรณ์สำคัญของระบบทำความเย็นด้วยการระเหยน้ำ หรือนิยมเรียกสั้นๆว่า “ระบบอีแว๊ป” (Evaporative Cooling System) มีหน้าที่ดูดซับน้ำและระเหยน้ำเพื่อทำให้อากาศที่ไหลผ่านเย็นลง เมื่อประกอบกับการระบายอากาศที่ถูกต้องเหมาะสม จะทำให้ได้อากาศที่สดชื่นและเย็นสบาย ระบบอีแว๊ปสามารถนำไปดัดแปลงใช้งานในลักษณะต่างๆได้หลายรูปแบบ ทั้งแบบความกดดันเป็นลบ (Negative Pressure) เช่น โรงเรือนเลี้ยงสัตว์ โรงเพาะปลูกพืช (Greenhouse) โรงงานทอผ้า โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าหรือรองเท้า โรงงานผลิตอุปกรณ์หรือเครื่องจักร และโรงงานอุตสาหกรรมอื่นๆที่มีคนทำงานจำนวนมาก และแบบความกดดันเป็นบวก (Positive Pressure) โดยทำเป็นตู้อากาศ (Air Handling Unit - AHU) เพื่อการจ่ายลมเย็นเฉพาะบริเวณ (Spot cooling) หรือนิยมเรียกว่า “แอร์น้ำ” ซึ่งสามารถทำได้หลายขนาดตามความต้องการ ตั้งแต่ขนาดใหญ่ที่ใช้ในงานอุตสาหกรรม ร้านอาหาร ร้านค้า ตลาดนัด สนามกีฬา ลานเอนกประสงค์ จนถึงขนาดเล็กที่ใช้ในบ้านพักอาศัย นับวันระบบอีแว๊ปจะมีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น เนื่องจากสามารถใช้งานได้ดีในสภาวะอากาศร้อน และมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าเครื่องปรับอากาศแบบใช้น้ำยา (Refrigerant Air Conditioner) ถึง 10 เท่า

CeLPadâ มีหลายรุ่นให้เลือกใช้ตามความต้องการ ทั้งนี้ เพื่อความเหมาะสมตามวัตถุประสงค์ในการใช้งานและเพื่อความคุ้มค่า ดังนั้น จึงขอแนะนำคุณสมบัติของ CeLPadâ รุ่นต่างๆที่มีจำหน่ายทั่วไป ดังนี้

CeLPad0790 เป็น Cooling pad ที่มีลอนกระดาษสูง 7 mm ร่องอากาศ (Flute) ทำมุมตัดกัน 90° หรือทำมุมกับแนวระนาบ 45°/45° มีพื้นที่ผิวสัมผัสเพื่อการระเหยน้ำ 460 m2/m3 มีประสิทธิภาพการทำความเย็น 88% ที่ความกดดันลด (Pressure Drop)25 Pa เมื่ออากาศไหลผ่าน CeLPad0790 หนา 150 mm ที่ความเร็วลม 1.5 m/s นิยมใช้กับระบบอีแว๊ปแบบ Negative Pressure ทั่วไป ซึ่งจะทำให้ระบบอีแว๊ปมีประสิทธิภาพการทำความเย็นสูงในขณะที่ความกดดันลด (Pressure Drop) ไม่สูงเกินความสามารถของพัดลม (พัดลมแบบ Axial Fan จะมีประสิทธิภาพดีที่ Static Pressure ไม่เกิน 40 Pa) สำหรับการเลี้ยงสัตว์ในภูมิอากาศแบบร้อนชื้นเช่นประเทศไทย แนะนำให้ใช้ CeLPad0790 หนา 150 mm โดยใช้ความเร็วลมผ่าน Pad1.5 m/s

คูลลิ่งแพด

CeLPad0760 เป็น Cooling pad ที่มีลอนกระดาษสูง 7 mm ร่องอากาศ (Flute) ทำมุมตัดกัน 60° หรือทำมุมกับแนวระนาบ 45°/15° มีพื้นที่ผิวสัมผัสเพื่อการระเหยน้ำ 460 m2/m3 มีประสิทธิภาพการทำความเย็น 76% ที่ความกดดันลด (Pressure Drop)11 Pa เมื่ออากาศไหลผ่าน CeLPad0760 หนา 150 mm ที่ความเร็วลม 1.5 m/s นิยมใช้กับระบบอีแว๊ปแบบ Negative Pressure สำหรับโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ที่ต้องการระบายอากาศและความเร็วลมในอัตราสูงโดยเฉพาะความเร็วลมหลัง Pad หรือนำไปใช้เพื่อแก้ปัญหาโรงเรือนที่มีความกดดันต่าง (Different Pressure) สูง ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพของพัดลม การระบายอากาศ และความเร็วลมในโรงเรือนต่ำลง อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาเรื่องความกดดันต่าง (Different Pressure) ของโรงเรือน ควรใช้วิธีเพิ่มจำนวน Cooling pad ให้เหมาะสมกับจำนวนพัดลมจะดีที่สุด เว้นแต่ไม่สามารถแก้ไขดัดแปลงเพื่อติดตั้ง Cooling pad เพิ่มเติมได้ จึงจะใช้วิธีเปลี่ยนแบบของ Pad จาก CeLPad0790 เป็น CeLPad0760 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายอากาศให้ดีขึ้นแต่จะทำให้ประสิทธิภาพการทำความเย็นลดลง จึงเหมาะกับการใช้งานในท้องถิ่นที่มีความชื้นไม่สูงมากนัก ส่วนกรณีที่ต้องการความเร็วลมหลัง Pad สูง แนะนำให้ใช้ CeLPad0760 หนา 150 mm โดยใช้ความเร็วลมผ่าน Pad2.0 m/s หรือมีค่าความกดดันลด (Pressure Drop) ไม่เกิน 37.5 Pa หรือ 0.15 inH2O แต่ต้องไม่ลืมว่าประสิทธิภาพการทำความเย็นจะลดลงเหลือประมาณ 74%

คูลลิ่งแพด

CeLPad0590 เป็น Cooling pad ที่มีลอนกระดาษสูง 5 mm ร่องอากาศ (Flute) ทำมุมตัดกัน 90° หรือการทำมุมกับแนวระนาบมี 2 แบบคือมุม 45°/45° และ 60°/30° มีพื้นที่ผิวสัมผัสเพื่อการระเหยน้ำ 690 m2/m3 มีประสิทธิภาพการทำความเย็น 97% ที่ความกดดันลด (Pressure Drop)44 Pa เมื่ออากาศไหลผ่าน CeLPad0590 หนา 150 mm ที่ความเร็วลม 1.5 m/s นิยมใช้กับระบบอีแว๊ปแบบ Positive Pressure เช่น ตู้อากาศ (Air Handling Unit - AHU) หรือ “แอร์น้ำ” เป็นการทำความเย็นเฉพาะบริเวณ (Spot cooling) เนื่องจาก CeLPad0590 มีประสิทธิภาพการทำความเย็นสูง และมีค่าความกดดันลด (Pressure Drop) ค่อนข้างสูง จึงนิยมใช้ร่วมกับพัดลมแบบกรงกระรอก (Centrifugal Fan) ซึ่งสามารถทำงานได้ดีที่ค่า Static Pressure สูงกว่า 40 Pa ในปัจจุบัน ระบบอีแว๊ปแบบใช้งานเฉพาะบริเวณ (Spot cooling) ถูกนำมาใช้มากขึ้น เพราะสามารถทำความเย็นได้ดี มีค่าใช้จ่ายในการใช้งานต่ำ และคุ้มค่าในการลงทุน

คูลลิ่งแพด

อนึ่ง ในท้องถิ่นภูมิอากาศแบบร้อนชื้นเช่นประเทศไทย โรงเรือนอีแว๊ปโดยทั่วไปจะมีประสิทธิภาพที่ทำเกิดค่า Heat Stress Index(HSI) ประมาณ 165 - 167 ซึ่งถือว่าไม่ค่อยดีอยู่แล้ว การใช้ Pad ที่มีคุณภาพไม่ดีหรือมีการออกแบบไม่ถูกต้อง จะยิ่งทำให้ประสิทธิภาพระบบอีแว๊ปต่ำลงไปอีก เช่น โรงเรือนอีแว๊ปที่ใช้เลี้ยงสัตว์ ถ้าใช้ Pad คุณภาพต่ำจะทำให้อุณหภูมิในโรงเรือนสูงกว่าโรงเรือนที่ใช้ Pad คุณภาพสูง ไม่น้อยกว่า 1°C หรือทำให้ค่า HSI สูงขึ้นประมาณ 2 หน่วย การเพิ่มขึ้นของค่า HSI จะทำให้สัตว์เกิดความเครียดจากความร้อน (Heat Stress) มากขึ้น ซึ่งย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพการผลิตสัตว์จนอาจเกิดความเสียหายขึ้นได้ เช่น ถ้าค่า HSI สูงถึง 170 ไก่เนื้อน้ำหนัก 2.00 - 2.20 กก. หรือสุกรพ่อแม่พันธุ์น้ำหนัก 200 - 250 กก. หรือสูงกว่านั้น จะแสดงอาการ หอบหายใจ กินอาหารลดลง กินน้ำมากขึ้น มีอาการหมอบ ซึม อย่างเห็นได้ชัด และถ้าค่า HSI สูงถึง 172 - 175 อาจทำให้ไก่เนื้อหรือสุกรพันธุ์ขนาดดังกล่าว โดยเฉพาะแม่สุกรอุ้มท้อง อาจถึงตายได้ หรือการเลี้ยงไก่เนื้อในโรงเรือนอีแว๊ปที่มีอุณหภูมิสูงถึง 32°C หรือสูงกว่าอยู่เป็นประจำ จะทำให้ไก่เนื้อมีอัตราการเจริญเติบโตลดลง ค่า FCR สูงขึ้น โดยเฉพาะไก่เนื้อที่มีอายุตั้งแต่ 30 วัน ขึ้นไป หรือไก่เนื้อที่มีขนาดตั้งแต่ 2.00 กก. ขึ้นไป อาจเกิดความเสียหาย หรืออาจพบว่ามีไก่ตายมากว่าปกติก็ได้

 

 

Visitors: 151,369